Audax Randonneurs แรลลี่จักรยานทางไกล






Audax Randonneurs แรลลี่จักรยานทางไกล การปั่นแบบทรมานบันเทิง

หลังจากปั่นจักรยานมาได้สักระยะผมก็ได้รู้จัก Audax Randonneurs แรลลี่จักรยานทางไกล โดยการติดตามอ่านจาก เวบ thaimtb.com และได้ไปสำรวจเส้นทางกับเพื่อน ก่อนที่เพื่อนจะลงปั่นในวันจริง รายการ 300BRM, Khao Yai

บอกได้เลยว่าการแข่งจักรยานแบบนี้ถูกจริตกับผมมาก เพราะขาอ่อนอย่างผมคงไปปั่นแข่งความเร็วสู้ใครไม่ได้ แต่รายการ Audax ไม่เน้นความเร็ว ขอให้ไปถึงเส้นชัยในเวลาที่กำหนด มันเหมือนเราได้แข่งกับตัวเอง ชนะตัวเราเองมากกว่า

แม้ในใจลึกๆจะยังคิดว่า เราจะไปทรมานตัวเองขี่จักรยานไกลๆแบบนั้นเพื่ออะไร แต่อีกใจก็ยังอยากไปมันคงเหมือนได้พิสูจน์ตัวเอง สงสัยคนเราคงมีดีเอ็นเอการแข่งขันอยู่ในตัวทุกคน ผมตั้งใจจะลงรายการ 200BRM Rayong ซึ่งเส้นทางสวยงามน่าจะช่วยให้ขี่ถึงเส้นชัยได้ง่าย หวังว่างั้นนะครับ 😀

audax rayong

 

สำหรับท่านที่สนใจการขี่จักรยานทางไกล Audax Randonneurs ผมได้รวบรวมข้อมูลจากทีมงาน Audax มาดังนี้ครับ

ออแดกซ์ (อังกฤษ: audax) หรือ ร็องดอเนอร์ (ฝรั่งเศส: randonneur) เป็นรูปแบบของกีฬาจักรยานที่ผู้เข้าร่วมจะพยายามขี่จักรยานเป็นระยะทางไกลที่สุดเท่าที่จะทำได้ภายในระยะเวลาที่กำหนด โดยไม่เป็นการแข่งขันเพื่อจัดอันดับ

ออแดกซ์เริ่มกำเนิดในประเทศอิตาลีในช่วงปลายคริสต์ศตวรรษที่ 19 โดยนักกีฬาจะขี่จักรยานเป็นกลุ่มต่อเนื่องให้ได้ระยะทางมากที่สุดในวันเดียว และเรียกตัวเองว่าเป็นพวก “ออแดกซ์” (audax มาจากคำว่า audacious แปลว่า “บ้าบิ่น”) ออแดกซ์ครั้งแรกที่มีการบันทึกไว้ เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 12 มิถุนายน ค.ศ. 1897 โดยนักจักรยานชาวอิตาลี 12 คน จากโรมไปยังเนเปิลส์เป็นระยะทาง 230 กิโลเมตร

ปัจจุบันกีฬาออแดกซ์มีสองรูปแบบคือ รูปแบบดั้งเดิม ขี่จักรยานเป็นกลุ่มโดยไม่หยุดพักระหว่างทาง ปัจจุบันเรียกว่า ยูโรแดกซ์ (eurodax) นิยมในประเทศฝรั่งเศส เบลเยียม เนเธอร์แลนด์ และเยอรมนี

และรูปแบบอิสระ (ฝรั่งเศส: allure libre) นักกีฬาสามารถเลือกขี่คนเดียว ขี่เป็นกลุ่ม หรือเลือกขี่ต่อเนื่องหรือหยุดพักระหว่างทางได้อย่างอิสระ ปัจจุบันเรียกว่า ร็องดอเนอร์ (randonneur) หรือ อาลูร์ลีบร์ (allure libre) หรือ เบรอแว (brevet) นิยมในหลายประเทศเช่น สหราชอาณาจักร สหรัฐอเมริกา แคนาดา ออสเตรเลีย บราซิล จีน ในบางประเทศใช้คำว่า ออดักซ์ และรอนเดอเนอร์ ในความหมายเดียวกัน

การขี่จักรยานออแดกซ์/ร็องดอเนอร์ ในปัจจุบัน นิยมขี่เป็นระยะทางไกล 200, 300, 400, 600, 1200 กิโลเมตร เส้นทางไกลสุดที่จัดขึ้นคือ ระยะทาง 1400 กิโลเมตรภายใน 5 วัน จัดขึ้นที่สหราชอาณาจักรทุก 4 ปี

audaxthai

Photo Credit: Pirak Anurakyawachon, AudaxRT ID0388

เมื่อต้นปี2013 คุณ Bob Usher นักปั่นจักรยานอาวุโสอายุ 85 ชาวอังกฤษ แต่อยู่เมืองไทยมากว่า30ปีจนได้ชื่อพระราชทานเป็นภาษาไทยว่า นาย เกตุ วรกำธร ร่วมกับนักปั่นจักรยานสมัครเล่นท่านหนึ่ง(น่าจะคือคุณวิชญ์ พิมพ์กาญจนพงศ์ )ที่แค่อยากจะปั่นจักรยานแบบAudax Randonneur ในเมืองไทย แต่ไม่มีสนามแข่ง จึงเขียนจดหมายไปคุยกับACP ในเวลาไล่เลี่ยกัน ทั้ง2คนชื่นชอบการปั่นจักรยานทางไกล และมีเจตนาที่จะโปรโมทการขี่จักรยานทางไกลโดยไม่ใช้ประกอบเป็นอาชีพ จึงได้รับสิทธิในการเป็นตัวแทนของACPอย่างเป็นทางการในประเทศไทย มีชื่อว่า Randonneurs Thailand

ตลอดปี2013 มีการพัฒนาเส้นทาง, พัฒนาเครือข่ายนักปั่นและผู้จัด, ศึกษาดูงาน, ทำความเข้าใจในแนวคิด กฎ และกติกาของการขี่(แข่ง) เพื่อเผยแพร่รูปแบบการขี่(แข่ง) Audax Randonneur ให้แพร่หลายมากขึ้นในวงกว้าง จนกระทั่ง Audax ได้รับความนิยมมากขึ้นในปัจจุบัน

ถาม: ตกลง Audax หรือ Randonneur
ตอบ: ได้ทั้ง2อย่าง ที่ประเทศอเมริกาจะเรียก Randonneur อังกฤษ, ออสเตเรีย, ญี่ปุ่น เรียก Audax ฝรั่งเศสเรียก Randonneur แต่Clubใหญ่ที่ควบคุมกฎและการแข่งขันทั้งหมด เรียก Audax Club Parisien ซะงั้น เป็นความสับสนของการใช้ภาษา ประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ส่วนใหญ่จึงเรียกรวม เป็น Audax Randonneur ซะเลย  

คนที่ขี่เสือหมอบมาก่อนจะมักเรียกว่าAudax ส่วนคนที่ขี่Touring สะสมจักรยานวินเทจ จะรู้จักในชื่อ Randonneur ส่วน BRM ย่อมาจาก Brevet Randonneur Mondiaux แปลตรงๆว่า ประกาศนียบัตร การปั่นจักรยานทางไกล สากล/นานาชาติ  

ถาม: แล้วตกลงการขี่(แข่ง) Audax Randonneur คืออะไร
ตอบ: ทีมงานผู้ก่อตั้งคนไทยพยายามจะหาคำจำกัดความที่ง่ายที่สุดในการอธิบาย Audax Randonneur และคิดว่า “แรลลี่จักรยานทางไกล” น่าจะเป็นคำจำกัดความที่ใกล้ที่สุด กล่าวคือ

– เป็นการขี่จักรยานที่ต้องพึ่งการใช้แผนที่ และทำความเข้าใจเส้นทางเอง
– เส้นทางการขี่เป็นวงกลมย้อนกลับมาจุดเริ่มต้น
– ต้องขี่ไปพร้อมใบประทับตรา แล้วนำไปประทับตามจุด และ ภายในเวลาที่กำหนด ไม่มีการติดป้ายเลยหมาย

– มีกรอบเวลากำหนดในการขี่(แข่ง) คือ
— 200กม. ไม่เกิน 13ชั่วโมงครึ่ง
— 300กม. ไม่เกิน20ชั่วโมง
— 400กม. ไม่เกิน27ชั่วโมง
— 600กม. ไม่เกิน40ชั่วโมง

– นอกจากกำหนดกรอบเวลาต่ำสุดแล้ว ยังมีการกำหนดเวลาสูงสุดไม่ให้ขี่เร็วเกินด้วย จุดควบคุมจะเปิดตามเวลาเท่านั้น ถ้าขาแรงมาถึงก่อนเวลาเปิด ต้องรอจุดเปิดถึงจะได้รับการประทับตรา

– เป็นการขี่แบบกึ่งพึ่งตนเอง ต้องพาตัวเองไปยังจุดประทับตราให้ได้ ระหว่างทางไม่มีการให้น้ำให้อาหาร ไม่มีการบำรุงรักษา ห้ามไม่ให้มีรถตามโดยเด็ดขาด รถของทีม หรือรถส่วนตัวสามารถให้การสนับสนุนน้ำและอาหารตามจุดควบคุมได้เท่านั้น
– เป็นการขี่แบบไม่จำกัดรูปแบบ ใครจะใช้เสือภูเขา รถTandem รถนอน เสือหมอบ รถพับ ขี่เดี่ยว ขี่กลุ่ม(ในกรณีที่ขี่กลุ่มห้ามมีการติดป้ายหรือทำสัญลักษณ์ว่าเป็นหัวหน้ากลุ่ม) ตราบใดที่ใช้แรงคนถีบ ได้หมด
– ระหว่างทาง ใครใคร่พัก พัก, ใครอยากหยุดทานข้าวข้างทาง เชิญ, หยุดนวดเท้าก็ได้ หยุดช่วยเพื่อนที่ยางแตกก็ได้ ทำได้ทุกอย่าง แต่ห้ามรับการช่วยเหลือจัดตั้งที่เตรียมมาเป็นอันขาด
– ความปลอดภัย และ การเคารพกฎจราจรเป็นเรื่องสำคัญมาก ห้ามขี่สวนเลนจราจร ต้องมีไฟส่องสว่างในเวลากลางคืน
– การขี่ตอนกลางคืน ขอเน้นย้ำอีกทีว่า ระบบไฟส่องสว่างสำคัญมากถ้าอุปกรณ์ไม่ครบ ผู้จัดมีสิทธิ์ไม่อนุญาติให้ลงแข่ง
– การลงโทษการทำผิดกติกา ถ้าไม่รุนแรงจะลงโทษด้วยการเพิ่มเวลาการขี่ 1-2 ชั่วโมงแล้วแต่ทีมงานจะพิจารณา ถ้ารุนแรง อาจถึงปรับให้ออกจากการแข่งขัน
– ผลการแข่งขันจะบันทึกเวลาที่เข้าเส้นชัยด้วย แต่จะไม่ประกาศผลตามเวลา ประกาศผลตามลำดับอักษร

ถาม: มาแข่งAudax ต้องปั่นเร็วแค่ไหน?
ตอบ: ตามกรอบเวลาที่กำหนดเป็นมาตรฐานสากลทั่วโลก โดยคิด “ความเร็วเฉลี่ยรวมพัก” ความเร็วสูงสุดต้องไม่เกิน 30กม/ชม. และช้าที่สุดต้องไม่ต่ำกว่า 15กม./ชม. 
audax speed

ตารางคำนวนที่แนบมานี้คิดเฉลี่ยเวลาพักที่ 10นาทีต่อการปั่น50นาที (แปลว่าปั่น1ชั่วโมง40นาทีพัก20นาทีก็ได้) จะเห็นได้ว่า”ความเร็วยืน” (ความเร็วที่ควรตั้งใจมองหน้าไมล์)ที่ต่ำที่สุดที่ควรจะทำได้คือ 21กม/ชม. “ความเร็วเฉลี่ย”จะตกลงมาเล็กน้อย จากการหยุดรถ ออกตัว เบรค ฯลฯ เมื่อรวมเวลาพัก ความเร็วเฉลี่ยจะเป็น 15.4กม/ชม

ปัจจัยคงที่ในตารางคำนวนนี้คือเวลาพัก หากลดเวลาพักลง ก็สามารถที่จะทำเวลาเพิ่มขึ้นได้ แต่หากพักน้อยก็จะส่งผลต่อประสิทธิภาพการปั่นในระยะยาว

จากตารางนี้แปลว่า ใครก็ตามที่สามารถขี่ความเร็วยืนได้ที่ 21กม/ชม เป็นเวลาต่อเนื่อง 13ชั่วโมง สามารถจบการแข่งขัน Audax ได้ ซึ่งไม่ใช่เรื่องยากเลยสำหรับมือใหม่ ผู้หญิง และผู้สูงอายุ

ในสายความเร็ว ความเร็วยืนที่เร็วที่สุดเท่าที่เป็นไปได้คือ 38กม/ชม. หากมากกว่านี้จะเร็วเกินเวลาเส้นชัย หรือจุดcontrol เปิด ไม่มีความหมายต่อเวลาในการแข่งขันแต่อย่างใด แต่เชื่อว่าความเร็วยืนที่38กม/ชม. ตลอดเวลา6ชั่วโมง45นาที(รวมพัก) ก็เป็นเพดานความเร็วที่ท้าทายอยู่พอสมควรแล้ว สำหรับเหล่ายอดมนุษย์

ถาม: ปั่นAudaxไปไหน เพื่ออะไร?

ตอบ: 

18thPBP

1. ปั่นไป PBP 
PBP คือรายการแข่ง Paris-Brest-Paris จัดทุกๆ4ปี เหมือนเป็นโอลิมปิกของการปั่นจักรยานทางไกล ระยะทาง 1,200กม. ภายใน 90ชั่วโมง เหมือนเป็นความฝันของนักปั่นทางไกลทุกคน เป็นลีกการปั่นจักรยานที่เก่าแก่มากๆอันนึงของโลก เป็นต้นแบบแรงบัลดาลใจของ Tout de France (ซึ่งตอนหลังไปเน้นความเร็ว และความเป็นสุดยอดในแบบนักกีฬาอาชีพ) รายการPBP รอบต่อไปที่จะถึงนี้คือเดือนสิงหาคม2015 หรืออีก11เดือนข้างหน้านี้ เราชาวไทยผู้ปั่นจักรยานเยอะไม่แพ้ชาติใดในโลก จะไปร่วมกิจกรรมครั้งนี้อย่างแน่นอน 

2. ปั่นไปเอาเหรียญเอาโล่ห์
ทุกๆรอบ4ปี หลังจากจบงานPBP Audax Club Parisian จะออกแบบเหรียญที่ระลึกเพื่อการสะสมใหม่ทั้งcollection มีทั้งให้สะสมทีละเหรียญไล่ลำดับไปเรื่อยๆ หรือมีแบบสะสมครบภายในเวลาที่กำหนดแลกซื้อเหรียญเทพได้ ฯลฯ บางทีก็ไม่รู้จะเอาไปทำไม แต่พอได้อันนึงแล้วมันอยากได้ต่อไปอีก (รอชมภาพเหรียญย้อนหลังไป20ปีก่อนหน้านี้ได้เร็วๆนี้)

3. ปั่นเพื่อพัฒนาตัวเอง
หลายๆคนใข้Audaxเป็นเครื่องมือในการตรวจสอบสุขภาพและจิตใจ หรือเป็นเป้าหมายทางการกีฬาประจำปี บางคนอาจที่ไม่ค่อยแข็งแรง อาจจะมองว่าแค่ปั่น200กม.ได้ทุกๆปีก็สุดยอดแล้ว บางคนค่อยๆไต่อันดับไปเรื่อยๆ ขอเก็บSuper Randonneur ให้ได้ในรอบ4ปี บางคนฟิตจัดก็ต้องไปPBPให้ได้ทุกครั้ง แล้วแต่ความชอบส่วนบุคคล

4. ปั่นเพื่อการท่องเที่ยว
ในยุคที่เวลาคือสิ่งที่ทุกคนหวงแหน การออกไปท่องเที่ยวด้วยจักรยานแบบลางานไปเป็นอาทิตย์ อาจทำได้ยาก การปั่นAudaxเป็นทางเลือกหนึ่งสำหรับคนรักการท่องเที่ยวด้วยจักรยานที่มีเวลาน้อย อาจจะไม่มีเวลาจอดรถถ่ายรูป จิบกาแฟ หรือนอนกลางวันเหมือนทัวร์ริ่งจริงๆ แต่การที่ได้ออกไปไกลๆจากสภาพแวดล้อมที่คุ้นเคย การได้ไปท่องเที่ยวแนวๆนอกเส้นทางปกติโดยการออกแบบของผู้เชี่ยวชาญเส้นทางประจำท้องถิ่น สมถะ เหนื่อยๆ หมดแรง กินอะไรก็อร่อย แบบเร่งด่วนช่วงสุดสัปดาห์ ก็ยังพอแก้ขัดอาการอยากออกไปทัวร์ริ่งเต็มรูปแบบได้อยู่ แถมทำให้เวลาไปทัวร์ริ่งจริงๆไปได้ไกลขึ้นกว่าเดิมด้วย

5. ปั่นเพราะเพื่อนท้า/เพื่อนหลอกมา
ช่วงนี้ฮิตมากครับสำหรับการท้าทาย และการตอบรับคำท้า อย่างไรก็อย่าให้เสียมิตรภาพดั้งเดิมนะครับ ช่วยประเมินสุขภาพกายและใจของเพื่อนๆด้วย

6. ปั่นเพื่อหาเพื่อนใหม่
หากโดนเพื่อนหลอกมาแล้วโดนทิ้ง ก็สามารถหาเพื่อนใหม่ได้ไม่ยาก การแอบหมกใครก็ไม่รู้จนเข้าเส้นชัย การได้รับน้ำใจจากใครซักคนตอนยางแตกกลางแดดร้อนๆ การหลุดกลุ่มไปอยู่กับคนแปลกๆตลอดคืนจนกลายเป็นเพื่อนที่จำหน้าได้แต่จำชื่อไม่ได้ ฯลฯ เรื่องราวเหล่านี้มีให้ได้ยินกันทุกงาน ทั้งนี้เพราะAudaxไม่ได้มุ่งเน้นที่ความเป็นเลิศทางสถิติ กรอบเวลาที่กำหนดไว้กว้างๆ เผื่อเวลาสำหรับแสดงมิตรภาพและน้ำใจไว้เรียบร้อยแล้ว

หลายๆคนบอกว่ามาปั่นจักรยานทางไกลแบบAudax ใช้”ใจ”ก็พอ ทีมงานอยากจะเพิ่มเติมว่า นอกจาก”ใจถึง”แล้ว ต้อง”ใจเย็น”ด้วย คนที่ปั่นไม่จบมี2ประเภท คือถอดใจ หรือไม่ก็สู้แบบบ้าระห่ำจนร่างกายหมดสภาพเพราะใจถึงเกินไป แต่ใจไม่เย็นพอ

screenshot_110
ปฏิทินสอบประกาศนียบัตรการปั่นจักรยานทางไกลนานาชาติ ประจำปีฤดูกาล2015 นื่องจากฤดูกาล2015นี้เป็นปีพิเศษที่กิจกรรมการปั่นจักรยานทางไกลระยะทาง1,200กม. Paris-Brest-Paris ได้เวียนมาบรรจบอีกครั้งหนึ่งในรอบ4ปี ท่านที่ต้องการเข้าร่วมกิจกรรมดังกล่าว ต้องผ่านการทดสอบครบทุกระยะทาง200 300 400 600กม. อีกครั้งเพื่อที่จะได้สิทธิ์ในการสมัครเข้าร่วมกิจกรรมดังกล่าว โดยมีสนามสอบทั้งหมด17สนาม 10เส้นทาง เพื่อรองรับกิจกรรมดังกล่าวนี้ (สนาม200BRMเดือนตค.2015ไม่นับรวม เนื่องจากอยู่นอกกรอบเวลา)

และนี่คือสนามของAudax Randonnerus Thailand ทั้งหมดในรอบปีข้างหน้านี้ จะไม่มีการงอกสนามBRMเพิ่มเติม (ยกเว้นสนามทดสอบเส้นทางสำหรับฤดูกาล2016) ขอเชิญท่านวางแผนงบประมาณ และทำเรื่องขออนุมัติผู้มีอำนาจที่บ้านล่วงหน้าได้เลยครับ

ตารางแข่งขัน Audax

เท่าที่ผมได้เช็คข้อมูล Audax Australi คนที่ได้รางวัล Super Randonneur  คือผ่านการทดสอบครบทุกระยะทาง200 300 400 600กม. ในปีเดียวกัน ส่วนใหญ่จะมีไม่เกิน 30 คนต่อปีครับ น่าสนใจว่า ในปี 2015 จะมี Super Randonneur  คนไทยกี่คน

pbpfast2

PBP’s famed shattered husks of men…(ภาพจาก http://mccraw.co.uk/pbp-going-faster/)





อ้างอิง

http://www.audaxthailand.com/

https://www.facebook.com/AudaxThailand

กระทู้หลัก Audax Randonneurs (แรลลี่จักรยานทางไกล) พูดคุยสอบถามและแสดงความคิดเห็น

ตัวอย่างจักรยานที่ใช้ในรายการ Audax 600 กม. 

รายการ Human Ride จักรยานบันดาลใจ ซีซั่น 2 ตอน นักออกแบบเส้นชัย
ซึ่งได้ออกอากาศเมื่อวันอาทิตย์ที่ 5 ต.ค.57 เวลา 22.05 น. ทางไทยพีบีเอส

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *