รับลมหนาว ชมดอกไม้ ที่ดอยอ่างขาง
ทุกๆปิดเทอมครอบครัวตั้งเป้าจะไปเที่ยวกันครับ ครั้งนี้เราเลือกไปรับลมหนาวกันที่สถานีเกษตรหลวงอ่างขาง ซึ่งเป็นสถานที่ท่องเที่ยวสวยงามลำดับต้นๆของเมืองไทย แม้ระยะทางจากกรุงเทพจะไกลสักหน่อยประมาณ 840 กม. ถ้าขับรถอึดๆก็วันเดียวถึง แต่ผมเลือกที่จะเที่ยวไปเรื่อยๆ แวะไหว้พระพุทธชินราชที่พิษณุโลก ค้างคืนที่แพร่ วันที่ 2 จึงถึงดอยอ่างขางครับ
ที่พักบนอ่างขางมีมากมาย ถ้าไม่ใช่ช่วงเทศกาลก็ไม่น่าห่วงว่าจะไม่มี ถ้าชอบที่พักสวยๆ สบายๆ อาหารอร่อยแนะนำให้พักในสถานีเกษตรหลวงอ่างขางเลยครับ ติดต่อที่พักได้ที่ www.angkhangstation.com ส่วนผมก็พักกับสถานีเกษตรเหมือนกัน แต่เป็นลานกางเต็นท์นะครับ มีห้องน้ำบริการ แม้จะไม่สะดวกสบาย แต่วิวและบรรยากาศไม่แพ้ที่ไหนๆ
ลานกางเต็นท์ของสถานีเกษตรหลวงอ่างขาง พิกัด 19.86322,99.05147
เช้าวันแรกในอ่างขางเราเลือกที่จะไปชมพระอาทิตย์ขึ้นที่จุดชมวิว แม้ไม่มีทะเลหมอก แต่ก็สวยงดงามคุ้มค่ากับการตื่นเช้าๆ
ชมแสงแรกของวันที่จุดชมวิวดอยอ่างขาง
ชมพระอาทิตย์ขึ้นแล้ว เราเดินกลับมาทานโจ๊กกับกาแฟร้านชาวเขาที่จุดจอดรถ แล้วเดินทางไปเที่ยวไร่ชา 2000 ชาวเขาว่าอาจจะได้เห็นทะเลหมอกที่ไร่ชาด้วย
สายหมอกจางๆที่ไร่ชา 2000 ดอยอ่างขาง
ร้านขายของที่ระลึก เด็กน้อยชาวเขาจะร้องเรียกให้ท่านซื้อ “ยังไม่ได้ซื้อกะหนูเลย ช่วยกระจายรายได้หน่อย” 😀
หลังจากเที่ยวไร่ชา เราก็เข้าไปเที่ยวในสถานีเกษตรหลวงอ่างขาง เป็นสถานีวิจัยแห่งแรกของมูลนิธิโครงการหลวง ตั้งแต่ปี พศ. 2512 ในหลวงทรงสละพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์เบื้องต้นจำนวน 1,500 บาท เพื่อจัดซื้อที่ดิน ตั้งขึ้นเป็นสถานีวิจัยทดลองปลูกพืชเมืองหนาวชนิดต่างๆ เพื่อนำพืชเหล่านี้มาทดแทนการปลูกฝิ่นของชาวเขา
อ่างขางในอดีต
อ่างขางในวันนี้
ป่าปลูกในอ่างขางจะเป็นไม้จากต่างประเทศ ที่เห็นคือเมเปิล เพื่อให้ชาวบ้านสางไม้บางส่วนไปใช้ประโยชน์ได้ ตัดปัญหาว่านำไม้จากป่าธรรมชาติมาใช้
ก่อนเที่ยวแวะเติมพลังกันได้ที่สโมสรอ่างขาง ร้านอาหารในสถานีเกษตร อาหารอร่อย ผักสดๆกรอบๆ
การท่องเที่ยวในสถานีโดยจักรยานเป็นทางเลือกที่ดี แต่จักรยานน่าจะมีเกียร์เพราะพื้นที่เป็นเนินเขา
แปลงต้นบ๊วย
แปลงผักเมืองหนาว
หอดอกไม้
ชมสวนบอนไซ
ถ้าเราต้องการเที่ยวชมในสถานีเกษตรให้ทั่วถึงแนะนำว่าควรมีเวลาอย่างน้อย 1 วันเต็มๆเลยครับ เที่ยวเรื่อยๆ สบายๆ มองไปทางไหนก็เจอแต่ภาพสวยงาม ไม่น่าเชื่อว่าเมื่อ 50 ปีที่แล้ว ที่นี่จะเคยเป็นไร่ฝิ่นมาก่อน
ไม่ใช่แค่สถานที่ท่องเที่ยว แต่ที่นี่ยังสร้างงานสร้างอาชีพให้กับคนในพื้นที่
กระจายรายได้ด้วยการขี่ฬ่อ
สายหมอกยามเช้า มาเยือนถึงหน้าเต็นท์
อาจจะถ่ายทอดความสวยงามของดอยอ่างขางมาได้ไม่หมด แต่บอกได้เลยว่า คุ้มค่าการเดินทางไกลและความเหนื่อย นอกจากความสวยงามแล้ว อย่างน้อยเราก็ได้รู้ว่า นี่คือเศษเสี้ยวของผลงานพ่อฟ้าหลวงของเรา ที่พลิกฟื้นพื้นที่ปลูกฝิ่น ให้เป็นสวรรค์บนดินได้ครับ ทั้งๆที่เมื่อก่อนการเดินทาง ก็ไม่ได้สะดวกสบายเหมือนวันนี้
สถานที่ตั้งและประชากรดอยอ่างขาง
เดินทางโดยรถยนต์ส่วนตัว:
สามารถเดินทางได้ด้วยรถยนต์ส่วนตัว จากตัวเมืองจังหวัดเชียงใหม่ ใช้เส้นทางเชียงใหม่-ฝาง (ทางหลวงหมายเลข 107) เดินทางเรื่อยมาจนถึงอำเภอเชียงดาวบริเวณหลักกิโลเมตรที่ 79 จะพบทางแยก(เส้นทางหมายเลข 1ในแผนที่) ถ้าเลี้ยวซ้ายตามป้ายบอกจะผ่าน ต.เมืองงาย บ้านอรุโณทัย บ้านหลวง เส้นทางจะค่อนข้างแคบแต่จะไม่ค่อยลาดชันเท่าใดนัก และเนื่องจากถนนเกือบตลอดทั้งสายจะไม่มีสัญญาณโทรศัพท์ ดังนั้นช่วงเวลาที่จะสัญจรโดยถนนสายนี้ควรจะเป็นช่วงเช้าหรือกลางวันน่าจะดีกว่าช่วงบ่ายไปแล้ว เพราะถ้าเกิดรถเสียหรือมีปัญหาขึ้นมาจะติดต่อขอความช่วยเหลือค่อนข้างลำบาก
หากยังไม่เลี้ยวซ้ายที่ทางแยกหมายเลข 1 ก็ขับรถตามถนนเรื่อยมาจนถึงหลักกิโลเมตรที่ 137 จะถึงเส้นทางหมายเลข 1249 ตามที่แสดงในแผนที่ ซึ่งเส้นทางนี้จะเป็นสายหลักที่ใช้กันเป็นประจำ เมื่อมาถึงปากทางขึ้นดอยอ่างขางจะมีป้ายบอกด้านซ้ายมือ ให้เลี้ยวซ้ายแล้วขับรถตามถนนขึ้นมาเลย ทางเส้นนี้จะค่อนข้างลาดชันมาก จึงมีบริการเช่าเหมารถคิวสองแถวหน้าปากทางให้ขึ้นมาส่งได้ แต่หากตัดสินใจจะนำรถขึ้นมาเองก็ควรขับด้วยความระมัดระวังเป็นพิเศษ
เดินทางโดยรถโดยสารประจำทาง :
ในกรณีที่เดินทางโดยรถโดยสารประจำทาง ให้ขึ้นรถสาย เชียงใหม่-ฝางที่ คิวรถช้างเผือกในตัวเมืองเชียงใหม่ มีทั้งรถตู้ และรถบัสคันใหญ่ และมาลงที่หน้าวัดหาญสำราญ(ตรงหลักกิโลเมตรที่ 137) มีบริการ รับ-ส่ง คิวรถสองแถว ซึ่งสามารถเหมารถต่อเพื่อขึ้นมาถึงดอยอ่างขางได้
ติดต่อรถคิวปากทางขึ้นดอยอ่างขาง : 053-884848 / 086-1947484 คุณส้ม
ภาพประทับใจระหว่างเดินทาง ร่วมแรงร่วมใจเกี่ยวข้าว นวดข้าว