ปั่นจักรยานไหว้พระ 9 วัด ฝั่งธนบุรี

ปั่นจักรยานไหว้พระ 9 วัด ฝั่งธนบุรี






ปั่นจักรยานไหว้พระทำบุญ 9 วัด ฝั่งธนบุรี

สมัยนี้เราไหว้พระกันก็ต้องไหว้ให้ครบ 9 วัด ความเชื่อนี้เริ่มมาตั้งแต่เมื่อไรก็ไม่รู้นะครับ แม้แต่การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) ก็นำความเชื่อนี้มาโปรโมทการท่องเที่ยวด้วย

วันนี้เลยอยากแนะนำเส้นทางปั่นจักรยานไหว้พระ 9 วัด ฝั่งธนบุรี เนื่องจากเคยเป็นที่ตั้งพราะราชวังในสมัยกรุงธนบุรี จึงมีวัดอยู่ใกล้เคียงกันมากมาย

ก่อนอื่นกองทัพต้องเดินด้วยท้อง แวะเติมพลังกันก่อนครับ เชื่อว่าเกือบทุกคนคงรู้จักก๋วยเตี๋ยวเนื้อวัดดงมูลเหล็ก ซึ่งร้านที่แวะไปทานนี้ได้ชื่อว่าเป็นต้นตำรับ แต่จริงเท็จไม่รู้นะครับ ร้านอยู่บนถนนพรานนก ใกล้สามแยกไฟฉาย ถ้ามาแถวนี้ต้องไม่ควรพลาด แต่ถ้าอยู่ไกล ผมว่ารสดีเด็ด สยาม หรือ วัดดงมูลเหล็ก รามอินทรา ก็อร่อยไม่แพ้กัน ใกล้ที่ไหนไปที่นั่นครับ

ก๋วยเตี๋ยวเนื้อวัดดงมูลเหล็ก

ก๋วยเตี๋ยวเนื้อวัดดงมูลเหล็ก

อิ่มอร่อยกันแล้ว ก็นึกถึงวัดดงมูลเหล็กสถานที่กำเนิดก๋วยเตี๋ยวชื่อดัง เลยแวะไปซักหน่อยครับ

ไปถึงวัดดงมูลเหล็ก ปรากฏว่าวัดและอุโบสถปิด สงสัยจะมาผิดเวลา วัดเล็กๆอาจจะเปิดอุโบสถเช้าและเย็นช่วงพระทำวัตรเท่านั้น แต่ก็ได้มาเห็นล่ะครับ

วัดดงมูลเหล็ก

วัดดงมูลเหล็ก


วัดต่อไป ขอแนะนำเป็นวัดแรกสำหรับการไหว้พระ 9 วัดในวันนี้เป็นวัดใหญ่ริมแม่น้ำเจ้าพระยา มีชื่อเสียงมาก คนเล่นพระเครื่องทุกคนต้องรู้จักครับ

1. วัดระฆังโฆสิตาราม

วัดระฆังโฆสิตาราม เดิมเรียกว่า วัดบางหว้าใหญ่ เป็นวัดโบราณครั้งกรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานี คู่กับวัดบางหว้าน้อย คือ วัดอมรินทราราม ต่อมา พ.ศ. ๒๓๑๒ สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช ทรงยกขึ้นเป็นพระอารามหลวงและโปรดเกล้าฯ ให้อันเชิญพระไตรปิฎกจากนครศรีธรรมราชมาสังคายนา ในสมัยรัชกาลที่ ๑ มีการขุดพบระฆังโบราณที่วัดนี้ เป็นระฆังที่เสียงดี รัชกาลที่ ๑ ทรงขอไปไว้ที่วัดพระศรีรัตนศาสดาราม และทรงสร้างระฆังพระราชทาน ๕ ลูกเก็บไว้แทน จึงเรียกกันว่าวัดระฆังตังแต่นั้นมา วัดนี้เคยเป็นที่ประทับของ สมเด็จพระสังฆราชสี ซึ่งเป็นปฐมต้นบรมสังฆราชแห่งกรุงรัตนโกสินทร์ และสมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต พรหมรังสี) ในบริเวณวัดมีหอพระไตรปิฎกเก่าแก่ เดิมเป็นเรือนเก่าของรัชกาลที่ ๑ เมื่อครั้งเป็น พระราชวรินทร์

                                      วัดระฆังโฆสิตาราม เดิมเรียกว่า วัดบางหว้าใหญ่ เป็นวัดโบราณครั้งกรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานี ต่อมา พ.ศ. ๒๓๑๒ สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช ทรงยกขึ้นเป็นพระอารามหลวงและโปรดเกล้าฯ ให้อันเชิญพระไตรปิฎกจากนครศรีธรรมราชมาสังคายนา    ในสมัยรัชกาลที่ ๑ มีการขุดพบระฆังโบราณที่วัดนี้ เป็นระฆังที่เสียงดี จึงทรงขอไปไว้ที่วัดพระศรีรัตนศาสดาราม และทรงสร้างระฆังพระราชทาน ๕ ลูกเก็บไว้แทน จึงเรียกกันว่าวัดระฆังตังแต่นั้นมา วัดนี้เคยเป็นที่ประทับของ สมเด็จพระสังฆราชสี ซึ่งเป็นปฐมต้นบรมสังฆราชแห่งกรุงรัตนโกสินทร์ และสมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต พรหมรังสี)

พระประธานวัดระฆังโฆสิตารามหรือพระประธานยิ้มรับฟ้า

พระประธานวัดระฆังโฆสิตารามหรือพระประธานยิ้มรับฟ้า

ท่าน้ำวัดระฆังโฆสิตาราม

บรรยากาศท่าน้ำวัดระฆังโฆสิตาราม

ทำบุญเติมนำ้มันตะเกียง

          คนมาทำบุญที่วัดระฆังกันมากครับ ยิ่งวันอาทิตย์อย่างนี้ หน้าวัดมีร้านขายปลาให้ผู้ที่ต้องการสะเดาะเคราะห์ ในวัดมีแผงเช่าพระ ขึ้นอยู่กับเราแล้วครับว่าจะทำบุญแบบไหน ส่วนผมขอทำบุญด้วยการเติมน้ำมันตะเกียง ไหว้พระประธานแล้วก็เดินทางต่อครับ


2.วัดชิโนรสารามวรวิหาร

วัดชิโนรสารามวรวิหาร

วัดชิโนรสารามวรวิหาร (วัดชิโนรส) ตั้งอยู่ริมคลองมอญ ติดถนนอิสรภาพ ตรงข้ามกับกรมอู่ทหารเรือ สมเด็จพระมหาสมณเจ้ากรมพระปรมานุชิตชิโรรส เมื่อครั้งดำรงพระอิสริยยศเป็นกรมหมื่นนุชิตชิโนรส ทรงสร้างขึ้นเมื่อราว พ.ศ. ๒๓๗๙

สถานที่ทำบุญชั่วคราววัดชิโนรส

วัดชิโนรสกำลังพัฒนาปรับปรุงวัดครั้งใหญ่ ทางวัดจัดสถานที่ชั่วคราวให้ร่วมทำบุญครั้งด้วยครับ ถือว่าผมโชคดีเลยที่ได้ร่วมสร้างมหากุศลครั้งประวัติศาสตร์นี้ (แม้จะบริจาคเงินก้อนไม่ใหญ่ก็ตาม :D)


3.วัดนาคกลางวรวิหาร

“วัดนาคกลางวรวิหาร” ซอยอิสรภาพ 42 แขวงวัดอรุณ เขตบางกอกใหญ่ กรุงเทพฯ ตั้งอยู่ในเขตพระราชฐานของสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช เพราะห่างจากพระราช วังประมาณ 500 เมตรเท่านั้น มีบันทึกไว้ว่า พระสนมของสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช ได้มา สร้าง “พระวิหารหรือโบสถ์น้อย” ประดิษฐานไว้วัดนาคกลางวรวิหาร

 วัดนาคกลางค่อนข้างเงียบสงบครับ อาจเป็นเพราะไม่เป็นที่รู้จักมากนัก แต่ผมรู้สึกชอบบรรยากาศช่วงที่มาวัดนี้มากๆเลย


4.วัดเครือวัลย์วรวิหาร

วัดเครือวัลย์ ตามประวัติระบุว่าสร้างขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 3 โดย เจ้าพระยาอภัยภูธร (น้อย บุญยรัตพันธุ์) ผู้เป็นบิดาของเจ้าจอมเครือวัลย์ เป็นผู้สร้าง และได้ถวายเป็นพระอารามหลวง ได้รับพระราชทานนามว่าวัดเครือวัลย์วรวิหาร ภายในวัดก่อสร้างพระอุโบสถและพระวิหารตั้งขนานในแนวเดียวกัน หันหน้าออกสู่ "คลองมอญ" โดยมีพระเจดีย์ทรงลังกา 3 องค์ ตั้งอยู่ระหว่างกลาง พระประธานในพระอุโบสถเป็นพระพุทธรูปประทับยืนปางห้ามญาติ มีจิตรกรรมฝาผนังซึ่งงดงามมาก เขียนเรื่องพระพุทธเจ้า 500 ชาติ

วัดเครือวัลย์ ตามประวัติระบุว่าสร้างขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 3 โดย เจ้าพระยาอภัยภูธร (น้อย บุญยรัตพันธุ์) ผู้เป็นบิดาของเจ้าจอมเครือวัลย์ เป็นผู้สร้าง และได้ถวายเป็นพระอารามหลวง ได้รับพระราชทานนามว่าวัดเครือวัลย์วรวิหาร         ภายในวัดก่อสร้างพระอุโบสถและพระวิหารตั้งขนานในแนวเดียวกัน หันหน้าออกสู่ “คลองมอญ” โดยมีพระเจดีย์ทรงลังกา 3 องค์ ตั้งอยู่ระหว่างกลาง พระประธานในพระอุโบสถเป็นพระพุทธรูปประทับยืนปางห้ามญาติ มีจิตรกรรมฝาผนังซึ่งงดงามมาก เขียนเรื่องพระพุทธเจ้า 500 ชาติ

พระประธานในพระอุโบสถวัดเครือวัลย์

พระประธานในพระอุโบสถวัดเครือวัลย์และจิตรกรรมฝาผนังเรื่องพระพุทธเจ้า 500 ชาติ(ภาพจาก https://www.facebook.com/WadKheruxwalyWrwihar)

 วัดเครือวัลย์สะอาดและสงบครับ คนไม่พลุกพล่านเหมาะกับคนที่ต้องการมาปฏิบัติธรรมอย่างมาก เพราะมีโครงการปฏิบัติธรรมประจำวันอาทิตย์เวลา 9.00-15.00 น. โดยเริ่มมีตั้งแต่วันที่ 18 พฤษภาคม 2557  ส่วนผมเข้าไปไหว้พระและฟังธรรมที่พระวิหารสักพักหนึ่ง เสียดายที่วันนี้อุโบสถไม่เปิด  ส่วนตัวแล้วอยากไหว้พระประธานในอุโบสถมาก เพราะเป็นพระปางห้ามญาติพระประจำวันเกิด ซึ่งน้อยมากที่พระประธานจะเป็นพระปางนี้ ส่วนใหญ่จะเป็นพระปางมารวิชัยมากกว่า คงต้องหาโอกาสมาทำบุญวัดเครือวัลย์เรื่อยๆครับ อ้อ ถ้าใครเริ่มรู้สึกหิว ตรงข้ามวัดมีก๋วยเตี๋ยวเรือเจ้าอร่อย คนทานเยอะมากกกก


5.วัดอรุณราชวราราม Tample of Dawn

วัดอรุณราชวราราม Tample of Dawn หรือที่นิยมเรียกว่า วัดแจ้ง หรือ วัดอรุณ เป็นวัดโบราณ สร้างในสมัยอยุธยา เดิมเรียกว่า วัดมะกอก ส่วนเหตุที่เปลี่ยนชื่อเป็นวัดแจ้งนั้น เชื่อกันว่า เมื่อสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชทรงตั้งราชธานีที่กรุงธนบุรีใน พ.ศ. 2310 ได้เสด็จมาถึงหน้าวัดนี้ตอนรุ่งแจ้ง จึงพระราชทานชื่อใหม่ว่าวัดแจ้ง แต่ความเชื่อนี้ไม่ถูกต้อง เพราะเพลงยาวหม่อมภิมเสน วรรณกรรมสมัยอยุธยาที่บรรยายการเดินทางจากอยุธยาไปยังเพชรบุรี ได้ระบุชื่อวัดนี้ไว้ว่าชื่อวัดแจ้งตั้งแต่เวลานั้นแล้ว พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย (ร.๒) พระองค์ได้ทรงบูรณะปฏิสังขรณ์วัดแจ้งต่อมา และพระราชทานนามใหม่ว่า “วัดอรุณราชธาราม” ต่อมามีพระราชดำริที่จะเสริมสร้างพระปรางค์หน้าวัดให้สูงขึ้น แต่สิ้นรัชกาลเสียก่อน ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว( ร.๔)โปรดเกล้าฯ ให้บูรณปฏิสังขรณ์วัดอรุณราชธารามหลายรายการ และให้อัญเชิญพระบรมอัฐิของพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยมาบรรจุไว้ที่พระพุทธอาสน์ของพระประธานในพระอุโบสถด้วย เมื่อการปฏิสังขรณ์เสร็จสิ้นลง พระราชทานนามวัดใหม่ว่า “วัดอรุณราชวราราม”

วัดอรุณราชวราราม Tample of Dawn หรือที่นิยมเรียกว่า วัดแจ้ง หรือ วัดอรุณ เป็นวัดโบราณ สร้างในสมัยอยุธยา เดิมเรียกว่า วัดมะกอก ส่วนเหตุที่เปลี่ยนชื่อเป็นวัดแจ้งนั้น เชื่อกันว่า เมื่อสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชทรงตั้งราชธานีที่กรุงธนบุรีใน พ.ศ. 2310 ได้เสด็จมาถึงหน้าวัดนี้ตอนรุ่งแจ้ง จึงพระราชทานชื่อใหม่ว่าวัดแจ้ง

พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย (ร.๒) พระองค์ได้ทรงบูรณะปฏิสังขรณ์วัดแจ้งต่อมา และพระราชทานนามใหม่ว่า “วัดอรุณราชธาราม” ต่อมามีพระราชดำริที่จะเสริมสร้างพระปรางค์หน้าวัดให้สูงขึ้น แต่สิ้นรัชกาลเสียก่อน ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว( ร.๔)โปรดเกล้าฯ ให้บูรณปฏิสังขรณ์วัดอรุณราชธารามหลายรายการ และให้อัญเชิญพระบรมอัฐิของพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยมาบรรจุไว้ที่พระพุทธอาสน์ของพระประธานในพระอุโบสถด้วย เมื่อการปฏิสังขรณ์เสร็จสิ้นลง พระราชทานนามวัดใหม่ว่า “วัดอรุณราชวราราม”

พระปรางค์วัดอรุณราชวราราม

พระปรางค์วัดอรุณเดิมสูง ๘ วา เป็นปูชนียสถานที่สร้างขึ้นพร้อมกับโบสถ์และพระวิหารน้อย รัชกาลที่ ๒ มีพระราชศรัทธาจะสร้างให้สูงใหญ่เป็นพระธาตุประจำพระนคร จึงโปรดให้เสริมสร้างประปรางค์ให้สูงใหญ่ถึง ๑ เส้น ๑๓ วา ๑ ศอก๑ คืบ ๑นิ้ว (๖๗ เมตร) ฐานพระปรางค์กลม ๕ เส้น ๑๗ วา (๒๓๗ เมตร)

พระประธานในพระวิหารมีชื่อว่า พระพุทธชัมพูนุทมหาบุรุษลักขณาอสีตยานุบพิตร เป็นพระประธานปางมารวิชัย หน้าตักกว้าง ๖ ศอก หล่อด้วยทองแดง ปิดทอง เป็นพระประธานที่หล่อพร้อมกับพระประธานในพระอุโบสถวัดสุทัศนเทพวราราม

พระประธานในพระวิหารมีชื่อว่า พระพุทธชัมพูนุทมหาบุรุษลักขณาอสีตยานุบพิตร เป็นพระประธานปางมารวิชัย หน้าตักกว้าง ๖ ศอก หล่อด้วยทองแดง ปิดทอง เป็นพระประธานที่หล่อพร้อมกับพระประธานในพระอุโบสถวัดสุทัศนเทพวราราม

พระประธานในพระอุโบสถ มีพระนามว่า พระพุทธธรรมมิศรราชโลกธาตุดิลก หล่อในรัชกาลที่๒ กล่าวกันว่าพระพักตร์เป็นฝีพระหัตถ์ของพระองค์ เป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัย หน้าตักกว้าง ๓ ศอกคืบ และที่พระพุทธอาสน์ขององค์พระประธานยังบรรจุพระบรมอัฐิในรัชกาลที่ ๒ อีกด้วย

พระประธานในพระอุโบสถ มีพระนามว่า พระพุทธธรรมมิศรราชโลกธาตุดิลก หล่อในรัชกาลที่๒ กล่าวกันว่าพระพักตร์เป็นฝีพระหัตถ์ของพระองค์ เป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัย หน้าตักกว้าง ๓ ศอกคืบ และที่พระพุทธอาสน์ขององค์พระประธานยังบรรจุพระบรมอัฐิในรัชกาลที่ ๒ อีกด้วย

พระพุทธรูปรอบพระอุโบสถวัดอรุณพระพุทธรูปในระเบียงคดรอบพระอุโบสถ

 วัดอรุณถือว่าเป็นวัดที่มีความสำคัญสำหรับกรุงเทพฝั่งธนบุรี น่าจะพอๆกับที่วัดพระแก้วเป็นวัดสำคัญของกรุงเทพฝั่งพระนคร น่าดีใจครับที่มีคนหลั่งไหลมาทำบุญที่วัดอรุณกันมากมาย ที่ผมสังเกตุเป็นวัยรุ่นหนุ่มสาวเยอะมากครับ โดยเฉพาะผู้หญิงนุ่งกระโปรงยาวสวยงาม ไม่ต้องแปลกใจครับส่วนใหญ่จะเป็นหนุ่มสาวชาวพม่า ถ้าเป็นคนไทยหรือนักท่องเที่ยวชาติอื่นก็จะสูงอายุขึ้นมาหน่อย

วัดนี้ผมใช้เวลาทำบุญเยอะกว่าวัดอื่นๆ อยากให้คนไทยหาโอกาศมาไหว้และขึ้นพระปรางค์วัดอรุณสักครั้งหนึ่งในชีวิต อ้อ แต่ถ้ากลัวความสูงไหว้ข้างล่างอย่างเดียวก็พอครับ


6.วัดโมลีโลกยาราม

วัดโมลีโลกยาราม

วัดโมลีโลกยาราม เป็นพระอารามหลวงชั้นโท ชนิด ราชวรวิหาร เดิมเป็นวัดราษฎร์ สร้างมาแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา มีชื่อเรียกทั่วไปว่า “วัดท้ายตลาด” ในสมัยธนบุรี สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี ทรงเห็นว่าบริเวณเขตพระราชวังมีความคับแคบ เนื่องจากมีวัดขนาบอยู่ทั้งสองด้าน จึงทรงรวมเขตพื้นที่ของวัดทั้ง ๒ คือวัดท้ายตลาดกับวัดแจ้ง (วัดอรุณราชวราราม) เข้าเป็นเขตพระราชวัง จึงเป็นวัดที่ไม่มีพระสงฆ์อยู่ประจำตลอดสมัยกรุงธนบุรี วัดท้ายตลาดและวัดแจ้งจึงนับเป็นพระอารามในเขตพระราชวังเหมือนสมัยกรุงศรีอยุธยา

เมื่อพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช รัชกาลที่ ๑ ทรงย้ายเมืองหลวงมาตั้งอยู่ด้านทิศตะวันออกของแม่น้ำเจ้าพระยา โปรดให้พระสงฆ์มาอยู่จำพรรษาทั้งวัดท้ายตลาดและวัดแจ้ง

วัดโมลีโลกกยารามกำลังสร้างสำนักเรียนวัดโมลีโลกยารามเฉลิมพระเกียรติ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ถือเป็นโอกาศอันดีอีกครั้งที่ได้ทำบุญมหากุศลครั้งยิ่งใหญ่ครับ


7.วัดหงส์รัตนารามราชวรวิหาร

วัดหงส์รัตนารามราชวรวิหาร เดิมเรียกกันอย่างพื้นชาวบ้านว่า “วัดเจ๊สัวหง” บ้าง “วัดเจ้าสัวหง” บ้าง ความเป็นมาของวัดนี้ก็ได้หลักฐานว่า จีนผู้มั่งมีหรือเศรษฐีจีนชื่อนายหงเป็นผู้สร้างมาดั้งเดิม ในยุคกรุงธนบุรี วัดหงส์ฯ ได้มีสร้อยนามเป็นทางการว่า “วัดหงส์อาวาสวิหาร” ถือเป็นวัดที่มีสำคัญอย่างมาก นอกจากตั้งติดกับพระบรมราชวังที่ประทับของพระเจ้าแผ่นดินแล้ว ในปีพุทธศักราช ๒๓๑๔ สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี ทรงเป็นเอกอุปถัมภก บูรณปฏิสังขรณ์

วัดหงส์รัตนารามราชวรวิหาร เดิมเรียกกันอย่างพื้นบ้านว่า “วัดเจ๊สัวหง” บ้าง “วัดเจ้าสัวหง” บ้าง มีหลักฐานว่า เศรษฐีจีนชื่อนายหงเป็นผู้สร้างมาดั้งเดิม ในยุคกรุงธนบุรี วัดหงส์ฯ ถือเป็นวัดที่มีสำคัญอย่างมาก นอกจากตั้งติดกับพระบรมราชวังที่ประทับของพระเจ้าแผ่นดินแล้ว ในปีพุทธศักราช ๒๓๑๔ สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี ทรงเป็นเอกอุปถัมภก บูรณปฏิสังขรณ์ (ภาพพระประธานในพระอุโบสถ พระพุทธลักษณะ เป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัย ศิลปะในสมัยอู่ทอง เป็นปูนปั้นลงรักปิดทอง)

ศาลเจ้าพ่อตากวัดหงส์ฯ ประชาชนในละแวกใกล้เคียงพร้อมใจกันสร้างศาลขึ้นที่ริมคลองคูวัดเชิงสะพานข้ามคลองหน้าวัด ด้านทิศตะวันตก เพื่อถวายเป็นพระราชอนุสรณ์เป็นแห่งแรก และปรากฏเป็นที่สักการะเคารพของประชาชนในท้องถิ่นแต่บัดนั้นเป็นต้นมา

ศาลเจ้าพ่อตากวัดหงส์ (สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช) ประชาชนในละแวกใกล้เคียงพร้อมใจกันสร้างศาลขึ้นที่ริมคลองคูวัดเชิงสะพานข้ามคลองหน้าวัด ด้านทิศตะวันตก เพื่อถวายเป็นพระราชอนุสรณ์เป็นแห่งแรก และปรากฏเป็นที่สักการะเคารพของประชาชนในท้องถิ่นแต่บัดนั้นเป็นต้นมา

สรงน้ำพระ สระน้ำมนต์ศักดิ์สิทธิ์วัดหงส์รัตนาราม

สรงน้ำพระ สระน้ำมนต์ศักดิ์สิทธิ์วัดหงส์รัตนาราม


8.วัดกัลยาณมิตรวรมหาวิหาร

วัดกัลยาณมิตรวรมหาวิหาร หรือ "วัดกัลยา" ตั้งอยู่ริมแม่น้ำเจ้าพระยา ฝั่งธนบุรี บริเวณปากคลองบางกอกใหญ่ฝั่งใต้ เจ้าพระยานิกรบดินทร์ (โต) ต้นสกุลกัลยาณมิตร ว่าที่สมุหนายก ได้อุทิศบ้านและที่ดินบริเวณใกล้เคียง ซึ่งแต่เดิมเป็นหมู่บ้านที่มีภิกษุจีนพำนักอยู่ และเรียกกันต่อมาว่า "หมู่บ้านกุฎีจีน" สร้างเป็นวัดขึ้นเมื่อ พ.ศ. ๒๓๖๘ และน้อมเกล้าฯ ถวายเป็นพระอารามหลวง พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๓ พระราชทานนามว่า "วัดกัลยาณมิตร"

วัดกัลยาณมิตรวรมหาวิหาร หรือ “วัดกัลยา” ตั้งอยู่ริมแม่น้ำเจ้าพระยา ฝั่งธนบุรี บริเวณปากคลองบางกอกใหญ่ฝั่งใต้  เจ้าพระยานิกรบดินทร์ (โต) ต้นสกุลกัลยาณมิตร ว่าที่สมุหนายก ได้อุทิศบ้านและที่ดินบริเวณใกล้เคียง ซึ่งแต่เดิมเป็นหมู่บ้านที่มีภิกษุจีนพำนักอยู่ และเรียกกันต่อมาว่า “หมู่บ้านกุฎีจีน” สร้างเป็นวัดขึ้นเมื่อ พ.ศ. ๒๓๖๘ และน้อมเกล้าฯ ถวายเป็นพระอารามหลวง พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๓ พระราชทานนามว่า “วัดกัลยาณมิตร”

พระพุทธไตรรัตนนายก หรือ หลวงพ่อโต ด้วยมีพระประสงค์จะให้เหมือนกรุงเก่า คือมีพระโตอยู่นอกกำแพงเมือง อย่างเช่นวัดพนัญเชิง หลวงพ่อโตเป็นที่เคารพสักการะอย่างสูง โดยเฉพาะในหมู่ชาวจีน เรียกชื่อแบบจีนว่า ซำปอฮุดกง หรือ ซำปอกง เป็นพระพุทธรูปปูนปั้น ปางมารวิชัย หน้าตักกว้าง ๕ วา ๓ ศอกคืบ สูง ๗ วา ๒ ศอกคืบ ๑๐ นิ้ว พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดเกล้าฯให้สร้างพระราชทานช่วยเจ้าพระยานิกรบดินทร์ เสด็จก่อพระฤกษ์เมื่อ ๑๘ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๓๘๐ อยู่ภายในพระวิหารขนาดใหญ่อยู่กลางวัด ตรงกลางระหว่างวิหารเล็กและพระอุโบสถ

พระพุทธไตรรัตนนายก หรือ หลวงพ่อโต เป็นที่เคารพสักการะอย่างสูง โดยเฉพาะในหมู่ชาวจีน เรียกชื่อแบบจีนว่า ซำปอฮุดกง หรือ ซำปอกง เป็นพระพุทธรูปปูนปั้น ปางมารวิชัย หน้าตักกว้าง ๕ วา ๓ ศอกคืบ สูง ๗ วา ๒ ศอกคืบ ๑๐ นิ้ว พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดเกล้าฯให้สร้างพระราชทานช่วยเจ้าพระยานิกรบดินทร์ เสด็จก่อพระฤกษ์เมื่อ ๑๘ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๓๘๐ อยู่ภายในพระวิหารขนาดใหญ่อยู่กลางวัด ตรงกลางระหว่างวิหารเล็กและพระอุโบสถ

วัดกัลยาณมิตรวรมหาวิหาร

นักท่องเที่ยวปั่นจักรยานเที่ยวย่านธนบุรี

ศาลเจ้าแม่กวนอิม (กวนอันเก๋ง) ริมแม่น้ำเจ้าพระยา

ไหว้พระทำบุญที่วัดวัดกัลยาณมิตรแล้ว แนะนำให้ออกทางหน้าวัดริมแม่น้ำเจ้าพระยา จะมีทางจักรยานริมแม่น้ำเรามุ่งไปด้านขวาของวัดเลียบแม่น้ำไปเรื่อยๆ จะผ่านศาลเจ้าแม่กวนอิม (กวนอันเก๋ง) ริมแม่น้ำเจ้าพระยา ก็จะถึงวัดที่ 9 แล้วครับ


9.วัดประยุรวงศาวาส

วัดประยุรวงศาวาส เป็นพระอารามหลวงชั้นโท ชนิดวรวิหาร ผู้สร้าง วัดประยุรวงศาวาส คือ สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาประยูรวงศ์ ( ดิศ บุนนาค ) ได้อุทิศสวนกาแฟสร้างเป็นวัดขึ้น เมื่อ พ.ศ. ๒๓๗๑ แล้วถวายเป็นพระอารามหลวงในสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่ รัชกาลที่ ๓ ได้พระราชทานนามว่า วัดประยุรวงศาวาส

พระพุทธนาคน้อย หรือ หลวงพ่อนาค พระประธานในพระวิหาร เชื่อกันว่าเป็นพระพุทธรูปโบราณคู่กับพระศรีศากยมุนี ซึ่งเป็นพระประธานในพระวิหารวัดสุทัศนเทพวราราม ที่ได้อัญเชิญมาจากสุโขทัย

พระพุทธนาคน้อย หรือ หลวงพ่อนาค พระประธานในพระวิหาร เชื่อกันว่าเป็นพระพุทธรูปโบราณคู่กับพระศรีศากยมุนี ซึ่งเป็นพระประธานในพระวิหารวัดสุทัศนเทพวราราม ที่ได้อัญเชิญมาจากสุโขทัย

พระเจดีย์ในวัดประยุรวงศาวาส

ครบ ๙ วัดแล้วนะครับ ถ้ายังไม่เย็นเกินไป แนะนำให้เดินเที่ยวเขามอในบริเวณวัดก่อน รึถ้าเย็นแล้วแต่บ้านอยู่ใกล้หรือปั่นรถพับมา แนะนำให้ออกหน้าวัด แล้วขึ้นสะพานพุทธชมพระอาทิตย์ตกกันครับ

 ขอกุศลบุญบารมี จงมีแด่ทุกท่านครับ




อ้างอิงและข้อมูลเพิ่มเติม

วัดอรุณราชวราราม , วัดระฆังโฆสิตาราม วัดประยุรวงศาวาส  วัดหงส์รัตนารามราชวรวิหาร วัดโมลีโลกยาราม วัดกัลยาณมิตรวรมหาวิหาร วัดชิโนรสารามวรวิหาร วัดเครือวัลย์

โครงการจักรยานชมกรุงรัตนโกสินทร์

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *