ปั่นจักรยานเที่ยวสวนสาธารณะ รอบเกาะรัตนโกสินทร์



ได้มีโอกาสไปเข้าร่วมกิจกรรมของทางกรุงเทพมหานครใน กิจกรรมส่งเสริมการเดินทางร่วมกัน วันพาหนะส่วนรวม ครั้งที่ 1 “ปั่นปลอดภัย เชื่อมต่อ ล้อ ราง เรือ”โดยงานแบ่งเส้นทางปั่นจักรยานรอบเกาะรัตนโกสินทร์ 5 ทริป 5 สไตล์ 



งานเริ่มต้นหลัง 8.00 น. หลังจากเคารพธงชาติ ประธานกล่าวเปิดงานสั้นๆ เป้าหมายคือส่งเสริมการใช้จักรยาน ลดปัญหาการจราจรติดขัด งานนี้ไม่มีปิดการจราจรเพื่อปั่นครับ แต่อาจจะกั้นรถเป็นบางช่วงที่ผ่านแยกบ้าง

งานปั่น99

พลตำรวจเอกอัศวิน ขวัญเมือง รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เเเละคณะผู้บริหารกรุงเทพมหานคร ร่วมปล่อยขบวนปั่นจักรยาน

ผมปั่นอยู่ในกลุ่ม 3 เที่ยวสวนสำราญใจระยะทาง 6.2 กิโลเมตร เส้นทางไม่มาก แต่เราได้เที่ยวชมสวนถึง 4 สวนเลยเส้นทางจักรยานรอบเกาะรัตนโกสินทร์-เที่ยวสวน

งานปั่น30

หนูน้อยก็มาปั่นเที่ยวสวนด้วย เท่าที่ดูทุกกลุ่มจะมีเด็กๆมาร่วมปั่นกันหลายคนครับ

เราเริ่มปั่นกันจากท้องสนามหลวง เลี้ยวซ้ายผ่านหน้าพิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติ แล้วไปเข้าทางเล็กๆใต้สะพานปิ่นเกล้า เพื่อปั่นเลียบเจ้าพระยา เป็นทางเล็กๆ แต่สวยมาก เห็นแม่น้ำและสะพานพระราม 8 อยู่ข้างหน้า สะพานปิ่นเกล้าอยู่ด้านหลัง ปั่นไปพักเดียวเหงื่อยังไม่ทันออกก็ถึงสวนแรกแล้วครับ สวนสันติชัยปราการ

งานปั่น31

เส้นทางเล็กๆริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา-สวนสันติชัยปราการ

สวนสันติชัยปราการ

สวนสาธารณะสันติชัยปราการ มีพื้นที่ประมาณ 8 ไร่เศษ บริเวณโดยรอบป้อมพระสุเมรุ ซึ่งตั้งอยู่ที่ช่วงปลายถนนพระอาทิตย์ติดกับแม่น้ำเจ้าพระยาตรงปากคลองบางลำพู สวนแห่งนี้จัดสร้างขึ้นเนื่องในมหามงคลสมัย เฉลิมพระชนมพรรษาครบ 6 รอบของ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช เมื่อวันที่ 5 ธันวาคม พ.ศ. 2542 โดยภายในบริเวณสวนมี พระที่นั่งสันติชัยปราการ ที่มีตราสัญลักษณ์งานเฉลิมพระเกียรติมาประดับไว้ พร้อมกับท่ารับเสด็จขึ้นลงเรือพระที่นั่ง เพื่อน้อมเกล้าฯ ถวายเป็นที่จัดพระราชประเพณีต่าง ๆ ที่เกี่ยวกับแม่น้ำเจ้าพระยา

งานปั่น33

พระที่นั่งสันติชัยปราการ

งานปั่น37

ป้อมพระสุเมรุ เป็นป้อมปราการที่สร้างขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 1 ในสมัยนั้นได้มีการสร้างป้อมปราการ 14 แห่งเพื่อป้องกันพระนคร แต่เมื่อเวลาผ่านไป ป้อมปราการหมดความจำเป็น จึงถูกรื้อถอนไป ป้อมพระสุเมรุเป็น 1 ใน 2 ป้อมที่ยังคงเหลืออยู่ อีกป้อมหนึ่งคือป้อมมหากาฬ ชื่อป้อมพระสุเมรุได้นำมาตั้งเป็นชื่อถนนพระสุเมรุ

งานปั่น36

สะพานพระราม 8

ภายในสวนนี้ยังมีต้นลำพูต้นสุดท้าย ซึ่งเป็นที่มาของชื่อบางลำพู แต่น่าเสียดายว่า ต้นลำพูนี้ได้ตายลงจากน้ำท่วมเมื่อปี พ.ศ. 2554 ทางกรุงเทพมหานคร (ก.ท.ม.) ได้มาตัดทิ้งจนเหลือแต่ตอ

สำหรับนักท่องเที่ยวที่มีเวลาแนะนำให้แวะเที่ยวชม พิพิธบางลำพู เป็นพิพิธภัณฑ์เล็กๆที่บอกเล่าเรื่องราวความเป็นไปของชุมชนชาวบางลำพูได้ดีเลย

งานปั่น32

ทีมงานกำลังอธิบายประวัติของสวนสันติชัยปราการ

หลังจากเที่ยวชมสวนกันสักพักเราก็ออกเดินทางปั่นจักรยานไปสวนต่อไป รู้สึกว่าพี่ทีมงานจะพาหลงไปผิดเส้นทาง 😀 แต่เราก็ปั่นไปถึงสวนต่อไปอย่างสบายๆครับ

สวนรมณีนาถ

สวนรมณีนาถ เดิมคือคุกเก่า เป็นสวนสาธารณะที่จัดสร้างขึ้นใหม่ เพื่อน้อมเกล้าน้อมกระหม่อมถวายแด่สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ในวโรกาสที่มีพระชนมายุ 60 พรรษา พ.ศ. 2535 และได้รับพระราชทานนามว่า “รมณีนาถ” ตั้งอยู่บริเวณเรือนจำพิเศษกรุงเทพมหานครเดิม  มีเนื้อที่ทั้งหมด 29 ไร่ 3 งาน 72 ตารางวา

งานปั่น43

บรรยากาศภายในสวนรมมณีนาถที่ร่มรื่นน่าพักผ่อน

งานปั่น79

ป้อมยามภายในบริเวณสวนรมณีนาถ ที่ยังคงอนุรักษ์ไว้

ผมเคยแวะมาพักผ่อนที่สวนนี้แล้วมีคนมาใช้สวนนี้พักผ่อน ออกกำลังกายมากพอสมควร สวนขนาดเล็กแบบนี้ เหมาะกับชุมชนเมืองมาก สร้างง่ายดูแลไม่ยาก ถ้ามีสวนสาธารณะเล็กๆ ใกล้บ้าน กระจายทั่วทั้งกรุงเทพคงเป็นเรื่องที่ดีมากๆ

ในสวนนี้ยังมีพิพิธภัณฑ์ราชทัณฑ์ด้วยครับ แต่ด้วยเวลาอันจำกัด เลยไม่ได้แวะชม  หลังจากเที่ยวชมสวนและถ่ายรูปหมู่แล้ว เราก็ออกเดินทางไปยังสวนต่อไป

รูปหมู่สวนรมณีนาถ

ภาพจาก https://www.facebook.com/BangkokCarFree/

สวนสราญรมย์

เดิมสวนสราญรมย์เป็นเขตพระราชอุทยานของพระราชวังสราญรมย์  ซึ่งพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดเกล้าฯ ให้สร้างขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2409

สวนสราญรมย์ก่อสร้างขึ้นในช่วงต้นรัชกาลพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ประมาณ พ.ศ. 2417 โปรดเกล้าฯ ให้มิสเตอร์เฮนรี อาลาบาศเตอร์ เป็นผู้ออกแบบและจัดสร้างสวนพฤกษศาสตร์ตามแบบอย่างในต่างประเทศ เมื่อเสด็จไปที่ใด พบพันธุ์ไม้แปลก ๆ ก็โปรดให้นำมาปลูกเพิ่มเติมที่สวนสราญรมย์อยู่เสมอ

ในสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวใช้เป็นสถานที่จัดงานฤดูหนาว ต่อมาภายหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. 2475 พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดเกล้าฯ พระราชทานให้กับรัฐบาล ใช้เป็นที่ทำการของคณะราษฎร

เมื่อ พ.ศ. 2503 คณะรัฐมนตรีได้มีมติมอบสวนสราญรมย์ ให้แก่กรุงเทพมหานคร เพื่อปรับปรุงเป็นสวนสาธารณะแก่ประชาชนทั่วไป

งานปั่น47

ศาลาที่พักภายในสวนสราญรมย์

งานปั่น50

ศาลเจ้าแม่ตะเคียนทอง

งานปั่น111

ร่องรอยความงามของอาคารในอดีต

งานปั่น109

มุมสบายๆ กับดนตรีในสวน

พวกเราใช้เวลาที่สวนสราญรมย์นานเลย เป็นสวนที่มีประวัติยาวนาน มีเหตุการณ์สำคัญๆเกิดขึ้นที่นี่มากมาย เป็นสวนที่สวยงามลงตัวทั้งด้านอาคาร สถาปัตยกรรมและพันธุ์ไม้ ส่วนตัวแล้วชอบสวนนี้มากๆครับ (อ่านเพิ่มเติมเกี่ยวกับ พระราชวังสราญรมย์)

สวนนาคราภิรมย์

สวนนาคราภิรมย์ เป็นสวนสาธารณะขนาดเล็กในการกำกับดูแลของกรุงเทพมหานคร  มีพื้นที่รวม 3 ไร่ 3 งาน 65.90 ตารางวา สร้างบนที่ดินของสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์และกรมธนารักษ์ ไม่มีสิ่งปลูกสร้างขนาดใหญ่ ส่วนไม้ประดับเน้นกลุ่มของไม้พุ่มเตี้ยที่ออกแบบจัดวางได้อย่างลงตัว  เพื่อไม่ให้บดบังความงามของสถาปัตยกรรม  เพราะเป็นสถานที่ ๆ ที่มีทำเลสวยงาม อยู่ในเกาะรัตนโกสินทร์ สามารถมองเห็นสถาปัตยกรรมที่มีความสำคัญทางประวัติศาสตร์หลายแห่งของทั้งพื้นที่ฝั่งธนบุรีและฝั่งพระนครได้ชัดเจน อาทิ พระปรางค์วัดอรุณ, วัดพระศรีรัตนศาสดาราม, วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม

เรามาถึงสวนนี้ราวๆ 11 โมง แต่ถ้าเป็นการปั่นท่องเที่ยวทั่วไป ผมว่าเราน่าจะวางแผนมาถึงสวนนี้ในช่วงเวลาเย็นๆ เพื่อชมพระอาทิตย์ตกริมแม่น้ำเจ้าพระยา น่าจะเป็นอะไรที่ฟินมากๆ

งานปั่น59

มุมมองริมน้ำ เห็นพระปรางค์วัดอรุณ

งานปั่น56

มุมมองบนฝั่ง เห็นวัดพระเชตุพนวิมลมังคลารามและ อาคารสวยๆริมถนนท้ายวัง

งานปั่น58

หลังจากปั่นเที่ยวครบสี่สวนแล้ว เราก็ปั่นกลับไปสนามหลวงเพื่อทานอาหารมื้อกลางวัน เป็นก๋วยเตี๋ยวที่อร่อยมาก 😀

สำหรับคนที่สนใจปั่นจักรยานเที่ยวสวนสาธารณะทั้ง 4 แห่งนี้ บอกได้เลยว่า ระยะทางปั่นไม่มาก กำลังดี แต่ละสวนมีกิจกรรม มีพิพิธภัณฑ์ที่น่าสนใจให้เที่ยว สามารถใช้เวลาได้เพลิดเพลินทั้งวัน แนะนำครับสำหรับวันหยุด 1 วัน

อาจจะนำรถมาจอดได้ที่วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม แต่ต้องมาเช้าๆหน่อย ถ้าใครมีรถพับ เอาขึ้นรถแท็กซี่หรือขึ้นเรือมา ก็จะสะดวกมากๆครับ

ขอขอบคุณ ทีมงาน Bangkok Car Free ที่จัดงานครั้งนี้ และพี่เลี้ยงนักปั่นจาก #coffeebikeclub ทุกท่าน ที่ช่วยนำทาง และดูแลให้ความปลอดภัยครับ

อ้างอิง th.wikipedia.org



Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *