แม้ว่าในปัจจุบันจะเข้าสู่ยุคกล้องดิจิตอลอย่างเต็มตัวแล้ว แต่หลักการการถ่ายรูปก็ยังเหมือนเดิมครับ เพียงแต่เปลี่ยนจากฟิล์มเป็นเซ็นเซอร์รับภาพเท่านั้นเอง โดยเราต้องกำหนดปริมาณแสงที่จะตกกระทบลงบนฟิล์มหรือเซ็นเซอร์รับภาพให้พอดี ก็จะได้ภาพที่ไม่มืดหรือสว่างไป
มาดูกันครับว่าปัจจัยที่มีผลต่อการเกิดภาพที่พอดีมีอะไรบ้าง
สิ่งที่มีผลต่อการเกิดภาพ คือ ความเข้มแสง ขนาดรูรับแสง ความเร็วชัตเตอร์ และค่าความไวแสงของเซ็นเซอร์
- ความเข้มแสง ในช่วงกลางวันที่ความเข้มแสงมาก เราจะใช้เวลาที่เปิดรูรับแสงของกล้องน้อยกว่าเวลาเช้า เย็น ซึ่งความเข้มของแสงน้อย โดยความเข้มของแสงก็จะมีผลต่อโทนสีของภาพเราด้วย เช่นภาพตอนเช้าๆสาย ก็จะให้ภาพที่สดใส แสงเย็นๆก็จะมีโทนแดง
- ความเร็วชัตเตอร์ (shutter speed) คือช่วงเวลาที่ใช้ในการเปิดม่านชัตเตอร์ ให้แสงตกกระทบกับเซ็นเซอร์ โดยค่าตัวเลขจะแทนส่วนในวินาที เช่น ค่าความเร็วชัตเตอร์ 125 = เวลาเปิดม่านชัตเตอร์ 1/125 วินาที แต่ถ้าเป็นตัวเลขและมีเครื่องหมาย ” กำกับด้วยจะหมายถึงจำนวนวินาทีจริงๆ เช่น ค่าความเร็วชัตเตอร์ 5 ” = เวลาเปิดม่านชัตเตอร์ 5 วินาที ( ในกล้องคอมแพคจะไม่มีม่านซัตเตอร์แบบกลไก แต่จะใช้ชัตเตอร์แบบอิเล็กทรอนิคส์ควบคุมเวลารับแสงของเซ็นเซอร์แทน โดยกล้อง millerless และ dslr อาจจะมีทั้งสองระบบ)
- รูรับแสง (aperture) ขนาดของรูรับแสงในเลนส์จะแทน ด้วยค่า F (F-stopหรือ F-number) ค่า F น้อยจะหมายถึงรูรับแสงกว้าง ค่า Fมากหมายถึงรูรับแสงแคบ โดยเมื่อเราถ่ายรูป รูรับแสงที่กว้างกว่าปริมาณแสงจะผ่านได้มากกว่ารูรับแสงที่แคบ ดังนั้นเพื่อให้ได้ปริมาณแสงที่เท่ากัน ที่รูรับแสงกว้างก็ต้องใช้เวลาเปิดม่านชัตเตอร์น้อย รูรับแสงแคบก็ต้องเปิดม่านชัตเตอร์นาน
- ค่าความไวแสง (ISO) ค่าความไวต่อแสงในการเกิดภาพของเซ็นเซอร์ ที่ค่า ISO สูง เราก็จะใช้เวลาเปิดม่านชัตเตอร์น้อยกว่า หรือ ใช้รูรับแสงได้แคบกว่านั่นเอง แต่ต้องระวังว่าที่ค่า ISO สูงๆก็จะมีสัญญาณรบกวนมาก หรือน้อยส์(noise)สูง คือมีจุดที่ไม่ต้องการเกิดในภาพมาก
จะเห็นว่าค่าทั้ง 4 อย่าง สิ่งที่เราสามารถกำหนดได้บนกล้องมี 3 อย่างคือ ความเร็วชัตเตอร์ รูรับแสง และ ISO ในเบื้องต้นเพื่อให้ง่ายต่อการฝึกฝน เราอาจตั้งค่า ISO ไว้ที่ ออโต้ โดยอาจกำหนดให้ไม่เกิน ISO 3200 หรือถ้าต้องการคุณภาพที่ดีก็อาจจะสัก ISO 800
ทีนี้ก็เหลือสิ่งที่เราต้องปรับอีก 2 อย่างคือ ความเร็วชัตเตอร์และรูรับแสง ในสภาพแสงช่วงหนึ่งเราสามารถเลือกใช้ค่าทั้งสองแตกด่างกันได้ ซึ่งจะให้ผลดังรูป
สังเกตดูจะเห็นว่าการเปลี่ยนค่ารูรับแสง และ ความเร็วชัตเตอร์ ทำให้รูปที่ได้ต่างกัน ทั้งความเด่นของนางแบบ ช่วงความชัดของนางแบบและฉากหลัง การไหลของน้ำ
รู้จักการควบคุมค่า รูรับแสง และ ความเร็วชัตเตอร์ ในโหมดต่างๆของกล้อง
กล้องคอมแพคระดับสูงขึ้นไปเราสามารถจะควบคุมปรับค่าต่างๆตามที่เราต้องการได้ โดยการใช้โหมดต่างๆดังนี้
A หรือ Av คือ เราปรับรูรับแสง แล้วกล้องจะหาความเร็วชัตเตอร์( Shutter speed )ที่เหมาะให้ โดยทั่วไปผมจะเลือกใช้โหมดนี้ ในสถานการณ์ที่ต้องการควบคุมความชัดลึก ความเบลอของฉากหลัง เช่นการถ่ายภาพบุคคล
ผลของขนาดรูรับแสง F ที่ต่างกัน
S หรือ Tv คือ เราปรับความเร็วชัตเตอร์(Shutter speed) แล้วกล้องจะหาค่ารูรับแสงที่เหมาะสมให้ โดยทั่วไปผมจะเลือกใช้โหมดนี้ในสถานการณ์ที่ตัวแบบเคลื่อนไหว เช่น การถ่ายกิฬา ที่ต้องใช้ความเร็วชัตเตอร์สูงๆ (เวลาในการเปิด/ปิดม่านชัตเตอร์น้อย ) ตลอดเวลา เพื่อหยุดความเคลื่อนไหวของนักกีฬา การถ่ายน้ำตกที่ใช้ความเร็วชัตเตอร์ต่ำๆ(ต้องการเวลาในการเปิด/ปิดม่านชัตเตอร์นานๆ) เพื่อให้น้ำเป็นเส้นสาย
M คือเราปรับเองทั้ง รูรับแสง และ ความเร็วชัตเตอร์(Shutter speed) ส่วนตัวไม่ค่อยได้ใช้โหมดนี้ครับ แต่ในบางครั้งที่เราต้องการภาพที่มืดหรือสว่างกว่าปกติ สร้างสรรภาพแปลกๆก็สามารถโหมดนี้ครับ หรือกล้องดิจิตอลบางรุ่นสามารถใช้กับเลนส์มือหมุนเก่าๆ หรือเลนส์ต่างยี่ห้อโดยต่อผ่านอแดปเตอร์ แต่ระบบวัดแสงไม่ทำงาน ก็อาจต้องใช้โหมดนี้ครับ
นอกจากนี้ยังมีโหมด P ซึ่งก็เหมือนโหมดออโต้คือ กล้องจะคำนวณเลือกค่า รูรับแสง และ ความเร็วชัตเตอร์ให้ แต่ก็ยอมให้เราปรับค่าทั้งสองได้ โดยการชิพท์ขึ้นลง ค่าทั้งสองจะเปลี่ยนไปทั้งคู่ให้เหมาะกับสภาพแสงขณะนั้น
ในโหมดต่างๆเหล่านี้ กล้องจะยอมให้เราชดเชยแสง คือในบางครั้งที่สภาพแสงแต่ละจุดในภาพต่างกันมากๆ หรือถ่ายย้อนแสง การคำนวณของกล้องอาจจะไม่ตรงใจเรา เราสามารถใช้การชดเชยแสงให้ภาพมืดหรือสว่างกว่าที่กล้องคำนวณให้ได้
จากที่กล่าวมาจะเห็นว่า สิ่งที่สำคัญในการสร้างสรรภาพอีกอย่างหนึ่ง ก็คือระยะชัดลึกที่มากหรือน้อย มีผลทำให้ฉากหลังชัดหรือเบลอ ซึ่งปัจจัยที่ทำให้ระยะชัดลึกเปลี่ยนไปคือ ขนาดรูรับแสง ตามตัวอย่างรูปที่ได้เห็นมาแล้ว แต่ยังมีอีกปัจจัยหนึ่งที่มีผลคือ ทางยาวโฟกัสของเลนส์ (ระยะห่างระหว่างชุดเลนส์กับเซ็นเซอร์) หรือระยะซูมของเลนส์นั่นเองดังรูป
ในกรณีที่เราถ่ายรูปอยู่กับที่ การปรับเลื่อนซูมจะสามารถดึงแบบให้ใกล้ไกล หรือเปลี่ยนมุมรับภาพให้กว้างขึ้นหรือลดลงได้
อีกกรณีนึงคือเราปรับซูมและเปลี่ยนตำแหน่งของการถ่ายภาพเพื่อให้ขนาดของแบบคงเดิมจะให้ผลดังรูป
อ่านมาถึงตรงนี้ต้องบอกว่าเรามีพื้นฐานระดับหนึ่งแล้ว ที่เหลือก็ มาถ่ายรูปกันเถอะ ครับ
อ้างอิง
http://dslr.nikon-asia.com/amateur1/th/ รูปที่ไม่มีลายน้ำจะนำมาจากเวบนี้ครับ เวบนี้จะอธิบายและมีตัวอย่างเปรียบเทียบ การปรับค่า รูรับแสง Shutter speed ระยะซูม และ ISO สร้างความเข้าใจได้ดีเลยครับ