ขณะที่จำนวนประชากรโลกเพิ่มขึ้น แต่ที่ดินมีอยู่เท่าเดิม และแนวโน้มราคาที่ดินก็มีแต่จะสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องในอนาคต
สำหรับท่านที่มีบ้านหลังเดิมและพึงพอใจในทำเลบ้านอยู่แล้วการรื้อถอนบ้านหลังเดิม เพื่อใช้พื้นที่ก่อสร้างบ้านหลังใหม่ย่อมเป็นทางเลือกที่เหมาะสม ประหยัด และคุ้มค่าที่สุด หรือแม้แต่หากต้องการใช้พื้นที่ดินซึ่งมีสิ่งปลูกสร้างที่ไม่ตรงตามวัตถุประสงค์
การรื้อถอนบ้านหรืออาคารก็เช่นเดียวกับการก่อสร้างและต่อเติมบ้าน ซึ่งเจ้าของบ้านจะต้องขออนุญาตก่อนดำเนินการรื้อถอน
อาคารที่เข้าข่ายที่จะต้องขออนุญาตรื้อถอน
- อาคารที่สูงเกิน 15 เมตร และอยู่ห่างอาคารอื่นหรือที่สาธารณะ น้อยกว่าความสูงอาคาร
- อาคารที่อยู่ห่างจากอาคารข้างเคียงหรือที่สาธารณะน้อยกว่า 2 เมตร
โดยมากจะเป็นตึกแถวหรืออาคารพาณิชย์ซึ่งมีอยู่นับแสนยูนิตทั่วกรุงเทพฯ
เพื่อความปลอดภัยในการรื้อถอนอาคาร ไม่ควรดำเนินการเอง ควรให้ผู้ประกอบวิชาชีพในการรื้อถอนบ้านและอาคาร ที่มีอุปกรณ์เครื่องมือ และประสบการณ์มากกว่า ซึ่งอาจใช้ทั้งเคร่ื่องจักรและแรงงานคนในการดำเนินการ
ตัวอย่าง ลำดับขั้นตอนการรื้อถอนตึกแถวสูงไม่เกิน 4 ชั้น
- สร้างรั้วรอบอาคารที่จะรื้อถอน เพื่อกันวัสดุตกหล่น และกั้นเป็นบริเวณอันตรายที่ห้ามผู้ไม่เกี่ยวข้องเข้าไปในพื้นที่รื้อถอน
- มีผ้าใบหรือวัสดุที่เหมาะสมคลุมอาคาร และมีการรดน้ำเพื่อป้องกันฝุ่นฟุ้งกระจาย
- รื้อวัสดุแขวนลอย ภายนอกและภายในอาคารออกก่อน
- รื้อครีบภายนอก หรือส่วนที่ยื่นออกมานอกตัวตึกทั้งหมด
- รื้อพื้นกันสาดภายนอกให้เหลือคานและเหล็กพื้นไว้
- รื้อเฟอร์นิเจอร์หรือสุขภัณฑ์ที่สามารถนำกลับมาใช้ซ้ำ หรือขายเป็นสินค้ามือสองได้
- รื้อโครงสร้างย่อยที่ทำจากไม้ เช่นหน้าต่าง ประตู ผนังกั้นห้องและฝ้าเพดาน
- รื้อผนังก่ออิฐฉาบปูนชั้นบนสุด สำหรับผนังภายนอกและกำแพงชั้นดาดฟ้า ต้องรื้อด้วยความระมัดระวัง
- รื้อพื้นชั้นบนสุด
- รื้อถอนคานและเสาชั้นบนสุด โดยตัดเหล็กพื้น คานและเสา ตามลำดับ
- รื้อถอนคานและเสาภายนอกพร้อมกันทีละด้าน หากอยู่ติดถนนให้รื้อด้านติดถนนหรือมีการสัญจรในลำดับหลัง โดยต้องระมัดระวังเป็นพิเศษ หากเป็นไปได้ ควรขออนุญาตปิดการจราจรชั่วคราวเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดอุบัติเหตุแก่ผู้สัญจรไปมา
ข้อควรระวัง
- ต้องไม่กองเศษวัสดุที่รื้อถอนไว้ที่พื้นชั้นบนของอาคารที่กำลังรื้อถอน เพราะพื้นอาจรับน้ำหนักไม่ได้และพังลงมา
ส่วนชั้นอื่นๆลำดับลงมา ก็สามารถดำเนินการตามขั้นตอนเดียวกัน ซึ่งส่วนใหญ่ บริษัทผู้รื้อถอนจะใช้เครื่องจักรกลหนักที่เรียกว่า “แบ็คโฮ” เข้าทำการรื้อถอนจนถึงฐานรากและปรับพื้นที่ให้พร้อมรองรับการก่อสร้างอาคารหลังใหม่ โดยจะต้องขนเศษวัสดุหรือขยะไปทิ้งให้หมด จึงจะถือว่าเสร็จงานและส่งมอบพื้นที่คืนแก่ผู้ว่าจ้างได้
ปล. บทความนี้กล่าวถึงการสร้างบ้านในกรุงเทพมหานคร หากสร้างนอกพื้นที่ โปรดสอบถามเทศบาลหรือองค์การบริหารส่วนตำบลที่ท่านอาศัยอยู่
อ้างอิง หนังสือรู้เรื่องบ้าน จาก สำนักการโยธา กรุงเทพมหานคร