ข้อห้ามไม่ควรทำกับบ้านพักอาศัย
- ห้ามใช้สอยอาคารผิดประเภท
โครงสร้างอาคารแต่ละประเภทได้ออกแบบให้สามารถรองรับน้ำหนักไม่เท่ากัน จึงไม่ควรใช้งานผิดไปจากแบบที่ขออนุญาต เช่น อาคารที่ขออนุญาตก่อสร้างสำหรับเป็นที่อยู่อาศัยไม่ควรใช้เป็นที่เก็บสินค้า เนื่องจากการเก็บของหรือวัสดุที่มีน้ำหนักมากไว้ในอาคารอาจทำให้โครงสร้างอาคารเสียหาย พังทลายลงมา จนเป็นอันตรายร้ายแรงแก่ผู้อยู่อาศัยและบริเวณข้างเคียงได้
- ห้ามวางของกีดขวางหรือปิดกั้นทางหนีไฟในอาคาร
อัคคีภัยอาจเกิดได้ตลอดเวลาโดยไม่มีใครคาดคิด ช่องทางหนีไฟจึงต้องพร้อมใช้งานอยู่เสมอ การวางสิ่งของกีดขวางทางหนีไฟแม้เพียงชั่วคราวก็ไม่ควรทำ
- ห้ามต่อเติมทางเดินด้านหลังของตึกแถวหรืออาคารพาณิชย์
การต่อเติมที่ว่างด้านหลังของตึกก็เป็นการปิดกั้นทางหนีไฟเช่นกัน ดังที่เป็นข่างอยู่บ่อยครั้งว่า เกิดเพลิงไหม้ แต่ผู้ที่ติดอยู่ในอาคารไม่สามารถหนีออกมาได้ แม้จะมีเจ้าหน้าที่ดับเพลิงเข้าถึงที่เกิดเหตุแล้วก็ตาม เพราะที่ว่างหลังตึกถูกต่อเติมปิดตายไว้
- ไม่ควรระบายน้ำจากหลังคาและกันสาดด้านหน้าอาคารลงในที่สาธารณะหรือในที่ดินที่เป็นระยะร่นของแนวอาคารจากเขตทางสาธารณะโดยตรง
เนื่องจากเป็นการละเมิดสิทธิของคนอื่นๆในสังคม ควรทำรางระบายน้ำหรือท่อระบายน้ำจากกันสาดหรือหลังคาแนบชิดตัวอาคารจนถึงพื้นดินแล้วระบายลงสู่ท่อสาธารณะหรือบ่อพัก
- ไม่ควรเปลี่ยนวัสดุพื้นอาคารโดยพลการ
หลายคนเข้าใจว่าการเปลี่ยนแปลงหรือซ่อมแซมอาคารส่วนทีไม่เกี่ยวกับโครงสร้าง เช่น การเปลี่ยนพื้นปาร์เก้ต์เป็นพื้นหินอ่อนนั้นไม่ส่งผลกระทบใดๆต่อความปลอดภัยของอาคาร แต่ความจริงแล้ว หากวัสดุมีน้ำหนักเพิ่มขึ้นจากของเดิมมาก โครงสร้างอาคารก็ต้องรับน้ำหนักเพิ่มและก่อให้เกิดความเสียหายได้ ดังนั้นหากจะเปลี่ยนวัสดุปูพื้นอาคาร ต้องคำนวณน้ำหนักว่าเพิ่มขึ้นกว่าเดิมเกินร้อยละ 10 หรือไม่ หากเกินต้องยื่นขออนุญาต โดยให้วิศวกรคำนวณให้
- ไม่ควรทุบอาคารขณะก่อสร้าง
การทุบอาคารหรือบ้านขณะกำลังก่อสร้างเป็นเรื่องที่ไม่ควรทำอย่างยิ่ง เพราะแรงสะเทือนจะส่งผลต่อหลังคา ผนัง และส่วนอื่นๆ ให้แตกร้าวแบบไม่แสดงอาการทันทำ เป็นรอยร้าวที่เกิดขึ้นภายในและมองไม่เห็น ส่งผลให้อาคารอ่อนแอ บอบช้ำตั้งแต่ก่อสร้าง เมื่อเวลาผ่านไปจะเริ่มแสดงอาการให้เห็น ก่อปัญหาจุกจิกแก่เจ้าของบ้านภายหลัง เช่น หลังคารั่วซึม เสา คาน พื้นมีรอยร้าว
อ้างอิง หนังสือรู้เรื่องบ้าน จาก สำนักการโยธา กรุงเทพมหานคร