จะมี”บ้าน”สักหลัง ต้องฟังผู้รู้
เมื่อตกลงใจแน่นอนว่าจะสร้าง”บ้าน” มีคำแนะนำให้ว่าที่เจ้าของบ้านใหม่ดำเนินการตามขั้นตอนเพื่อลดความเสี่ยงความเสียหายทั้งทรัพย์สินความปลอดภัย และจิตใจ
1. การออกแบบบ้าน
นอกจากความสวยงาม ประโยชน์ใช้สอย สิ่งสำคัญที่ควรคำนึงถึงในการสร้าง”บ้าน”คือ ความปลอดภัยของผู้อยุ่อาศัย จึงต้องมีรายละเอียดและขั้นตอนที่ถูกต้องดังต่อไปนี้
- ผู้ออกแบบต้องต้องเป็นบุคคลธรรมดาหรือนิติบุคคลที่มีใบอนุญาตประกอบวิชาชีพวิศวกรควบคุม สาขาวิศวกรรมโยธาลงนามรับรอง(ขึ้นอยุูกับขนาดของอาคาร) ทั้งนี้ ควรพิจารณาจากประสบการณ์หรือความเชี่ยวชาญเพื่อประกอบการพิจารณา
- หากมีความต้องการขยับขยายขนาดของ”บ้าน”ในอนาคต ควรออกแบบโดยคำนวนให้โครงสร้างเผื่อการดัดแปลงต่อเติม กรณีนี้ควรแจ้งสถาปนิกและวิศวกรผู้ออกแบบ เพื่อทำการออกแบบโดยคำนึงถึงความแข็งแรงของของอาคารเพื่อการดัดแปลงในอนาคต เพราะหากไม่มีการคำนวนโครงสร้างเผื่อไว้ อาจเป็นอันตรายต่อโครงสร้างเดิมของบ้าน เนื่องจากไม่สามารถรับน้ำหนักของวัสดุโครงสร้างอาคารที่เพิ่มขึ้นได้ ทั้งนี้ การดัดแปลงดังกล่าวต้องถูกต้องตามกฎหมายที่เกี่ยวข้อง
- ออกแบบโดยคำนวนให้โครงสร้างบ้านหรืออาคารสามารถต้านทานแรงสั่นสะเทือนของแผ่นดินไหว*เนื่องจากกรุงเทพ ตั้งอยู่ในบริเวณที่เป็นดินอ่อนมาก อาจได้รับผลกระทบจากแผ่นดินไหวระยะไกล หรือเสี่ยงต่อเหตุแผ่นดินไหว(บ้านพักอาศัยทั่วไปตามกฎหมายกำหนดให้มีการคำนวนดังกล่าว กรณีที่มีความสูงตั้งแต่ 15 เมตร ขึ้นไป)
หมายเหตุ: *ทั้งนี้ตามมาตรฐานของ “พระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522 แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร(ฉบับที่ 3) พ.ศ. 2543” และ “กฎกระทรวง กำหนดการรับน้ำหนักความต้านทานความคงทนของอาคาร และพื้นดินที่รองรับอาคารในการต้านทานแรงสั่นสะเทือนของแผ่นดินไหว พ.ศ. 2550” ซึ่งได้ประกาศบังคับใช้เมื่อวันที่ 30 พฤศจิกายน พ.ศ. 2550
2. ยื่นแบบคำขอ (แบบ ข.1 หรือตามมาตรา 39 ทวิ) พร้อมเอกสารประกอบตามระบุให้ครบถ้วน เพื่อขออนุญาตก่อสร้าง ได้แก่
- สำเนาบัตรประจำตัวประชาชนและสำเนาทะเบียนบ้าน
- สำเนาหรือภาพถ่ายโฉนดที่ดิน
- แผนผังบริเวณ แบบแปลน รายการประกอบแบบแปลน และรายการคำนวนโครงสร้าง
- หนังสือแสดงความยินยอมและรับรองของสถาปนิก หรือวิศวกร ที่เป็นผู้ออกแบบและคำนวนโครงสร้าง
- เอกสารอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง
หากต้องการประหยัดค่าออกแบบบ้านและสามารถมั่นใจได้ในเงื่อนไขที่กล่าวมาแล้ว..
ท่านสามารถขอแบบบ้านเพื่อประชาชนได้ฟรี ที่
- สำนักการโยธา กรุงเทพหานคร หรือ
- ฝ่ายโยธา สำนักงานเขตต่างๆ ในกรุ่งเทพมหานคร
หมายเหตุ : ไม่มีค่าใช้จ่าย นอกจากค่าถ่ายสำเนาแบบบ้านเท่านั้น ทั้งนี้ ผู้ขออนุญาต ต้องจัดผังบริเวณและแผนที่สังเขป และแนบเอกสารต่างๆ เพื่อประกอบขออนุญาต ตามที่กล่าวมาแล้วข้างต้น
3. การสร้าง “บ้าน” ตามแบบที่ยื่นคำขอ และได้รับอนุญาตให้ก่อสร้างอาคารแล้ว หลังจากได้ผู้รับเหมา ผุ้ได้รับอนุญาต ต้องแจ้งชื่อผู้ควบคุมงาน รายละเอียดดังนี้
- บ้านขนาดเล็ก มีพื้นที่ใช้สอยรวมกันทั้งหลังไม่เกิน 150 ตาราเมตร ไม่ต้องมีสถาปนิกหรือวิศวกรควบคุม เจ้าของบ้านหรือตัวแทนเจ้าของบ้านสามารถควบคุมเองได้
- บ้านขนาดใหญ่ มีพื้นที่ใช้สอยรวมกันทั้งหลังตั้งแต่ 150 ตารางเมตรขึ้นไป ต้องมีสถาปนิกควบคุมงานก่อสร้าง
- บ้านตั้งแต่ 3 ชั้นขึ้นไป ต้องมีวิศวกรควบคุมงานก่อสร้าง
อย่างไรก็ตาม เพื่อความสะดวก อุ่นใจ และมั่นใจในการก่อสร้างที่มีคุณภาพ แนะนำให้ท่านเลือกใช้บริการของผู้รับเหมาก่อสร้างบ้านที่มีผลงานและประสบการณ์ในการก่อสร้างบ้านซึ่งมีวิศวกรและ/หรือสถาปนิกที่มีใบประกอบวิชาชีพตามที่กฎหมายกำหนด
การเลือกผู้รับเหมาสร้างบ้าน
ควรหาผู้รับเหมาหลายๆ ราย เพื่อพิจารณาเปรียบเทียบและเลือกรายที่คุณสมบัตฺิเหมาะสมที่สุด
- มีประสบการณ์รับก่อสร้างบ้าน
- พิจารณาจากคุณภาพบ้านที่ผู้รับเหมานั้นๆ เคยสร้าง (ทั้งที่กำลังก่อสร้างและสร้างเสร็จแล้ว)
- ผลงานการออกแบบบ้านของผู้รับเหมาจะต้องมีข้อมูลที่ละเอียด มีการวางแผน มีกำหนดระยะเวลาในการทำงานแต่ละขั้นตอน ซึ่งจะทำให้ผู้ว่าจ้างสามารถตรวจสอบผลงานและวางแผนดำเนินการในขั้นต่อไปได้
- วัสดุที่นำมาสร้างบ้านจะต้องได้รับมาตรฐาน มอก. และมีตัวอย่างวัสดุจริงให้ผู้ว่าจ้างเห็นตามระบุในสัญญา
- จำนวนบุคลากรที่เหมาะสม เช่น วิศวกร โฟร์แมน ช่างก่อสร้างที่มีฝีมือ และคนงาน
- พิจารณาในรายละเอียดของสัญญาจ้างให้ถี่ถ้วนว่าเป็นสัญญาที่ไม่เอาเปรียบ เช่น ต้องระบุว่าก่อสร้างเสร็จแล้วจึงชำระเงินหรือแบ่งชำระเงินตามงวดงานที่สร้างเสร็จ เพื่อป้องกันการทิ้งงานก่อนแล้วเสร็จ
“บ้าน”ของเรา เรื่องไม่เล็ก..ของคนข้างบ้าน
ขณะที่ท่านกำลังยินดีกับ”บ้าน”หลังใหม่ที่กำลังเป้นรูปร่าง ขอให้ตระหนักว่า ยังมีคนอีกจำนวนหนึ่งที่ไม่เกี่ยวข้องกับเราโดยตรง แต่ก็อาจจะต้องเกี่ยวข้องถึงขั้นผิดใจ บาดหมาง หากท่านละเลยที่จะปฏิบัติต่อเพื่อนบ้านด้วยน้ำใจและมารยาทดังต่อไปนี้
- ผูกมิตรกับเพื่อนบ้านข้างเคียง
- บอกกล่าวให้เพื่อนบ้านทราบว่าจะมีการก่อสร้างอย่างไรบ้าง ใช้เวลามากน้อยเพียงใด
- เตรียมการป้องกันไม่ให้งานก่อสร้างส่งผลกระทบก่อความเดือดร้อนต่อเพื่อนบ้านหรือสร้างปัญหาต่อส่วนรวม เช่น
- มีแผ่นผ้าใบหรือแผ่นพลาสติกกันฝุ่นละอองกันวัสดุตกหล่น
- ระมัดระวังเรื่องเสียงดัง
- งดการทำงานก่อสร้างในเวลาหลังพระอาทิตย์ตกดิน
- ระมัดระวังเรื่องการขุดเจาะหรือตอกเสาเข็มที่อาจส่งผลกระทบต่อโครงสร้างของบ้านหรืออาคารใกล้เคียง
- ระมัดระวังไม่ให้งานก่อสร้างก่อความเดือดร้อนรำคาญหรือสร้างปัญหาต่อส่วนรวม เช่น ไม่กองวัสดุกีดขวางพื้นที่สาธารณะหรือล้ำไปในที่ข้างเคียง
- หากเกิดปัญหาหรือความเสียหายที่เกี่ยวข้องกับเพื่อนบ้าน อันเนื่องมาจากการก่อสร้าง ต้องรีบแจ้งให้เจ้าของบ้านทราบ พร้อมแสดงความรับผิดชอบและเร่งแก้ไขทันที นอกจากเป็นการแสดงความรับผิดชอบแล้ว ยังเป็นการป้องกันการฟ้องร้องที่อาจเกิดขึ้นในภายหลังซึ่งจะยุ่งยากกว่ามาก
ปล. บทความนี้กล่าวถึงการสร้างบ้านในกรุงเทพมหานคร หากสร้างนอกพื้นที่ โปรดสอบถามเทศบาลหรือองค์การบริหารส่วนตำบลที่ท่านอาศัยอยู่
อ้างอิง หนังสือรู้เรื่องบ้าน จาก สำนักการโยธา กรุงเทพมหานคร