รู้เรื่องบ้าน ตอนที่ 1เรื่องควรรู้ เมื่อคิดจะมี”บ้าน”






เรื่องควรรู้ เมื่อคิดจะมี”บ้าน”

ก่อนจะมี”บ้าน”สักหลัง คงต้องเริ่มจากการเลือกหาทำเลที่เหมาะสม ไม่ว่าเราจะมีที่ดินอยู่แล้วหรือต้องซื้อที่ดินเพื่อปลูกสร้างบ้านใหม่

สิ่งที่ต้องทำ

  • ตรวจสอบโฉนดที่ดิน ว่าจำหน่าย จ่าย โอนได้อย่างสามารถถูกต้อง เพื่อป้องกันการถูกหลอกลวง
  • ตรวจสอบข้อกำหนดผังเมืองรวมของกฎกระทรวงและข้อบัญญัติกรุงเทพมหาครให้ชัดเจนก่อนว่าที่ดินบริเวณนั้นกฏหมายกำหนดให้เป็นเขตที่ดินที่อนุญาติให้ใช้งานประเภทใดได้บ้าง เพราะอาจมีบางพื้นที่ที่ถูกกำหนดเป้นบริเวณห้ามก่อสร้างอาคารบางประเภท
  • ตรวจสอบแนวเวนคืนที่ดินจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น การทางพิเศษ กรมทางหลวงและแนวที่สายไฟฟ้าแรงสูงพาดผ่าน

เมื่อสบายใจจากปัญหาเรื่อง”ที่ดิน”แล้ว สิ่งต่อมาคือ การเลือกประเภทของ”บ้าน”เพียงแค่ต้องการมี”บ้าน”ในฝันยังไม่เพียงพอที่จะตัดสินใจซื้อหรือสร้างบ้านได้ทันที สิ่งสำคัญที่ไม่ควรละเลยหรือต้องพิจารณาให้ถี่ถ้วน คือ ควรเลือกบ้านที่เหมาะกับวิธี่การดำเนินชีวิต รวมทั้งเหมาะสมกับความพร้อมด้านการเงิน

ประเภทของ”บ้าน”

  •  บ้านจัดสรร บ้านสร้างใหม่ บ้านมือสอง
  •  บ้านในเมือง บ้านชานเมือง บ้านนอกเมือง
  •  บ้านเดี่ยว บ้านแฝด บ้านแถว(ทาวน์เฮ้าส์) ตึกแถว
  •  อาคารที่อยู่อาศัย เช่น แฟลต คอนโดมิเนียม

“บ้าน”แต่ละประเภทมีทั้งข้อดี-ข้อเสียที่แตกต่างกัน ซึ่งท่านต้องนำมาพิจารณาประกอบการตัดสินใจ ตัวอย่างเช่น

บ้านในเมืองมีข้อดีคือเดินทางสะดวก ข้อเสียคือราคาสูงเมื่อเทียบกับบ้านขนาดเดียวกันนอกเมือง

บ้านชานเมืองหรือนอกเมืองมีข้อดีคือในขนาดที่เท่ากันบ้านชานเมืองจะมีราคาถูกกว่า ข้อเสียคือเดินทางไม่สะดวก และต้องมีค่าใช้จ่ายในการเดินทางเพิ่มขึ้น

  ขั้นตอนการมี”บ้าน”อย่างถูกกฎหมาย 

“บ้านใหม่” 

บ้านใหม่มีทั้งการก่อสร้างเองหรืออาจมีการซื้อบ้านของโครงการตามหมู่บ้านจัดสรร กรณีก่อสร้างเอง ควรตรวจสอบให้มั่นใจว่าขั้นตอนการขออนุญาตและการก่อสร้างเป็นไปอย่างถูกกฎหมาย แบบแปลนของ”บ้าน”นั้น ผ่านการพิจารณาให้ก่อสร้างตามแบบที่ขออนุญาต โดยไม่ขัดต่อข้อกำหนดการใช้อาคารที่กฎหมายกำหนดในแต่ละพื้นที่ หรือหากเป็นการซื้อ”บ้านจัดสรร”ผู้ประกอบการส่วนใหญ่มักรู้ข้อกฎหมายดีแล้ว

หน่วยงานที่ให้บริการตรวจสอบแบบแปลน”บ้านใหม่”และช่วยตรวจสอบอาคารหรือ”บ้านมือสอง”ว่ามีการขออนุญาตดัดแปลงอย่างถูกต้องแล้วหรือไม่คือฝ่ายโยธาของสำนักงานเขตนั้นๆ หรือกองควบคุมอาหาร สำนักการโยธา กรุงเทพมหานคร

 “บ้านมือสอง”

บ้านมือสองส่วนใหญ่มักมีการดัดแปลงหรือต่อเติมเพื่อเพิ่มพื้นที่ใช้สอย ซึ่งหากการดัดแปลงหรือต่อเติมนั้นไม่ถูกต้อง โครงสร้างบ้านหรืออาคารอาจไม่สามาถรับน้ำหนักจนถึงขั้นพังถล่มลงมา ส่งผลต่อความปลอดภัยของผู้อาศัยโดยตรง ดังนั้น เพื่อความปลอดภัย จึงควรตรวจสอบเพื่อให้มั่นใจว่าการดัดแปลงอาคารนั้นถูกต้องตามกฎหมาย ด้วยการขอดูแบบและใบอนุญาตดัดแปลงอาคารจากเจ้าของเดิม หรือขอความช่วยเหลือจากหน่วยงานของกรุงเทพมหานคร

“บ้าน”ในรูปแบบอื่น เช่น คอนโดมิเนียม(อาคารชุด) แฟลต เป็นต้น บ้านประเภทนี้ เป็นการอยู่อาศัยเป็นห้องแยกกันแต่ละครอบครัว และใช้ส่วนกลางรวมกัน เช่น ทางเดิน ทางหนีไฟ

สิ่งสำคัญที่ควรคำนึงถึงในการเลือกอยู่อาศัยในอาคารสูง

  •     อาคารนั้นต้องมีทางหนีไฟที่สามารถวิ่งออกสู่ภายนอกได้โดยสะดวก ไม่มีสิ่งกีดขวาง มีระบบและอุปกรณ์ในการป้องกันอัคคีภัย เช่น สัญญาณเตือนเพลิงไหม้ ถังดับเพลิง สายฉีดน้ำดับเพลิง เป็นต้น
  •     เมื่อเข้าอยู่อาศัยแล้ว ควรเข้าร่วมการซ้อมเหตุอัคคีภัยทุกครั้งที่มีโอกาส

หมายเหตุ

  •  กฎหมายผังเมือง มีข้อกำหนดเกี่ยวกับขนาดและประเภทการใช้สอยของอาคารแต่ละประเภทว่าสามารถสร้างได้หรือไม่ หรือมีเงื่อนไขอย่างไร
  •  บ้านอยู่อาศัยแต่ละประเภท จะต้องมีพื้นที่ว่างและระยะร่นตามที่กฎหมายควบคุมอาคารกำหนด เช่น อาคารอยู่อาศัยต้องมีพื้นที่ว่าง ไม่มีสิ่งปกคลุมไม่น้อยกว่า 30% ของพื้นที่ดินก่อสร้าง




อ้างอิง หนังสือรู้เรื่องบ้าน จาก สำนักการโยธา กรุงเทพมหานคร

 

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *