ยื่นขอเป็นผู้จัดการมรดกด้วยตัวเอง







ในการจัดการทรัพย์สินของคนที่เสียชีวิตไปแล้ว หากมีทายาทหลายๆคน คงไม่พ้นต้องตั้งผู้จัดการมรดกเพื่อจัดการแบ่งทรัพย์สินนั้นให้ทายาททุกคนอย่างเป็นธรรม ตามความเข้าใจของหลายๆคนการตั้งผู้จัดการมรดกเป็นเรื่องยุ่งยาก ต้องจ้างทนายเท่านั้น ซึ่งในกรณีที่มีทรัพย์สินมากๆก็คุ้มค่า แต่ถ้าทรัพย์สินน้อยล่ะ ศาลยุติธรรมและอัยการ คงมองเห็นในจุดนี้ จึงเปิดโอกาสให้ประชาชนทั่วไปร้องขอเป็นผู้จัดการมรดกด้วยตัวเองได้ ที่ภูมิลำเนาของผู้ตาย  โดยพนักงานอัยการจะทำหน้าที่แทนทนายให้ แต่ในกรณีนี้ ทายาททุกคนจะต้องเห็นด้วยกับการตั้งคนคนนั้นเป็นผู้จัดการมรดกนะครับ 

Jpeg

ขอยกตัวอย่างการยื่นขอเป็นผู้จัดการมรดกด้วยตัวเองที่จังหวัดสุพรรณบุรีนะครับ กรณีนี้แต่งตั้งให้คุณแม่เป็นผู้จัดการมรดก โดยผมได้ไปติดต่อทางสำนักงานอัยการจังหวัดสุพรรณบุรีไว้ เพราะคุณพ่อที่เสียชีวิตมีภูมิลำเนาอยู่ที่จังหวัดนี้  นัดหมายล่วงหน้าไว้ โดยต้องเตรียมเอกสารไปติดต่อดังนี้

เอกสารที่ต้องนำมายื่นในการร้องขอเป็นผู้จัดการมรดกด้วยตัวเอง

  1. สำเนาทะเบียนบ้านของผู้ตายและสำเนาทะเบียนบ้านของผู้ร้องขอเป็นผู้จัดการมรดกจำนวน 3 ชุด
  2.  สำเนาบัตรประชาชนหรือบัตรข้าราชการของผู้ร้องขอจำนวน 3 ชุด
  3.  สำเนาใบมรณะบัตรของผู้ตายจำนวน 3 ชุด
  4. สำเนาใบมรณะบัตรของบิดามารดา กรณีบิดามารดาของผู้ตาย(เจ้ามรดก) ถึงแก่ความตายก่อนแล้ว ถ้าหาไม่ได้ ให้ขอหนังสือรับรองการตายจากนายทะเบียนท้องถิ่นจำนวน 3 ชุด
  5. สำเนาทะเบียนสมรสของผู้ตายจำนวน 3 ชุด
  6. สำเนาทะเบียนสมรสพร้อมด้วยทะเบียนหย่าของผู้ตาย กรณีมีการหย่าจำนวน 3 ชุด
  7. สำเนาใบสำคัญการเปลี่ยนชื่อตัว ชื่อสกุล ของทายาท จำนวน 3 ชุด
  8. สำเนาสูติบัตรของบุตรผู้ตาย กรณีบุตรยังไม่บรรลุนิติภาวะ หรือไม่สามารถให้ความยินยอมได้จำนวน 3 ชุด
  9. สำเนาพินัยกรรมของผู้ตาย(ถ้ามี)จำนวน 3 ชุด
  10. หนังสือให้ความยินยอมในการร้องขอจัดการมรดกขอรับได้ที่ สำนักงานคุ้มครองและช่วยเหลือทางกฎหมายแก่ประชาชน (สคช. จังหวัดสุพรรณบุรี)
  11. บัญชีเครือญาติ ขอรับได้ที่สำนักงานคุ้มครองและช่วยเหลือทางกฎหมายแก่ประชาชน (สคช. จังหวัดสุพรรณบุรี)
  12. เอกสารที่เกี่ยวกับทรัพย์มรดกของผู้ตาย เช่น โฉนดที่ดิน ทะเบียนรถจักรยานยนต์ ทะเบียนรถยนต์ ทะเบียนอาวุธปืน สมุดบัญชีเงินฝากธนาคาร ใบหุ้น ฯลฯเป็นต้นถ่ายสำเนาจำนวน 3 ชุด
  13. สำเนาบัตรประจำตัวประชาชน และสำเนาทะเบียนบ้านของทายาท ผู้ให้ความยินยอมทุกคน จำนวน 3 ชุด
  14. ค่าธรรมเนียมทางศาล เช่นค่าประกาศหนังสือพิมพ์ ค่าขึ้นศาล ค่าส่งจดหมาย เป็นต้น จำนวนประมาณ1,700บาท ถึง 2,200 บาท (ขึ้นอยู่กับแต่ละพื้นที่)

หมายเหตุ ในวันที่มายื่นเอกสารให้นำเอกสารที่เป็นต้นฉบับทุกรายการมาด้วย และที่สำคัญ ทายาททุกคน ต้องไปเซ็น หนังสือ ต่อหน้าพนักงานอัยการ (แล้วแต่พื้นที่นะครับ ในกรณีนี้ พนักงานแจ้งว่า เพื่อป้องกันการปลอมแปลงลายเซ็น และต้องการรู้ว่าทายาททุกคนไม่คัดค้าน)

หลังจากยื่นเอกสารเรียบร้อบแล้วก็รอประมาณ 50 วัน (เนื่องจากต้องประกาศหนังสือพิมพ์ 1 เดือน) ทางสำนักงานอัยการจะส่งหนังสือแจ้งวันนัดไต่สวนคำร้องขอให้ศาลมีคำสั่งแต่งตั้งเป็นผู้จัดการมรดกไปให้ที่บ้าน

วันขึ้นศาลก็ต้องไปพบพนักงานอัยการก่อนครับ พร้อมทั้งนำเอกสารตัวจริงไปด้วย ทางอัยการจะซักซ้อมคำถามที่ใช้ในการไต่สวนให้ก่อนขึ้นศาล เป็นคำถามง่ายๆประมาณนี้ครับ

1. ความสัมพันธ์ระหว่างผู้ร้องกับผู้ตาย
2. วันที่ผู้ตายถึงแก่ความตาย สาเหตุการตาย และภูมิลำเนาของผู้ตาย
3. ทรัพย์มรดกของผู้ตาย เช่น บัญชีเงินฝากธนาคาร โฉนดที่ดิน
4. เหตุขัดข้องในการจัดการทรัพย์มรดก
5. เรื่องบัญชีเครือญาติ
6. ความยินยอมของทายาท
7. คุณสมบัติของผู้ที่จะเป็นผู้จัดการมรดก เช่น ไม่เป็นบุคคลไร้ความสามารถ ไม่เป็นบุคคลล้มละลาย
8. คำถามอื่น ๆ ตามความเหมาะสมที่เกี่ยวข้องกับการจัดการมรดก

หลังจากนั้นพนักงานอัยการก็จะเป็นคนนำเราไปขึ้นศาล โดยมากจะเป็นช่วงเช้า ใช้เวลาไม่นานประมาณ 20 นาที ต่อคำร้อง เวลาเดียวกันอาจมีหลายคำร้อง ก็ไต่สวนกันเป็นลำดับไปครับ

หลังจากไต่สวนเสร็จก็รอรับ หนังสือแต่งตั้งผู้จัดการมรดกได้เลย (อาจจะขึ้นอยู่กับศาลแต่ละพื้นที่นะครับ)




ขอขอบคุณ สำนักงานคุ้มครอง สิทธิ์และช่วยเหลือทางกฎหมาย แก่ประชาชนจังหวัดสุพรรณบุรี (สคช.)

สำนักงานอัยการจังหวัดสุพรรณบุรี โทร 082-001 5486 ,035-535 266 (กรุณาโทรนัดเจ้าหน้าที่ก่อน 1 วัน)

ศาลจังหวัดสุพรรณบุรี ที่บริการประชาชนด้วยดีครับ

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *