ตามรอยบูชาพระเบญจภาคี






พระเบญจภาคี สุดยอดพระเครื่องของเมืองไทย

เชื่อว่าสำหรับคนสะสม บูชาพระเครื่องทุกๆคนแล้ว พระที่ต่างมุ่งหวังว่าจะมีไว้บูชากันก็คือ พระเครื่องเบญจภาคี ซึ่งได้จัดทำเนียบขึ้นโดย “พ.อ.(พิเศษ) ประจน กิตติประวัติ” หรือ “ตรียัมปวาย”  เมื่อ พ.ศ.๒๔๙๕   โดยเมื่อแรกเริ่มยังคงเป็นเพียง “ไตรภาคี” คือ มีเพียง ๓ องค์เท่านั้น ประกอบด้วย ‘พระสมเด็จ’ วัดระฆังโฆสิตาราม เป็นองค์ประธาน ซ้ายขวาเป็นพระนางพญา จ.พิษณุโลก และพระรอด จ.ลำพูน หลังจากนั้นจึงได้ผนวก ‘พระกำแพงซุ้มกอ’ กำแพงเพชร และ ‘พระผงสุพรรณ’ สุพรรณบุรี เข้าไปเพิ่มเป็นพระเบญจภาคี

สำหรับผู้ที่ต้องการพระเบญจภาคีแบบดั้งเดิมมาบูชา ปัจจุบันนี้กำเงินหลักร้อยล้านไปหา ก็ยังยาก แต่เดี๋ยวก่อน ถ้าเราอยากจะหาบูชาพระเบญจภาคีไว้ โดยไม่ซีเรียสว่าต้องเป็นพระกรุเก่าดั้งเดิม ก็สามารถทำได้ไม่ยากครับ

ตัวผมเองก็มีแรงบันดาลใจ อยากได้พระเบญจภาคีไว้บูชาสักชุด หาข้อมูลแล้วก็คิดได้ว่า เราไปบูชาพระจากวัดที่ค้นพบพระเลยก็ได้นี่นา แม้จะเป็นพระใหม่ แต่ก็เป็นพระแท้ๆที่สร้างจากทางวัด  คิดได้แล้วก็ถือโอกาสช่วงที่เดินทางไปเที่ยวเชียงใหม่ ตามรอยวัดที่เป็นต้นกำเนิดพระเบญจภาคีไปเรื่อยๆครับ

เส้นทางตามรอยพระเบญจภาคี

เราเริ่มต้นที่กรุงเทพ วัดระฆังโฆษิตาราม เป็นวัดใจกลางกรุงเทพ ที่คนนิยมไปทำบุญกันมาก

๑.พระสมเด็จวัดระฆัง

พระประธานวัดระฆังโฆสิตารามหรือพระประธานยิ้มรับฟ้า เป็นพระพุทธรูปปางสมาธิ สันนิษฐานว่าเป็นต้นเเบบจำลองร่มกับพระซุ้มกอ ในการสร้างพระสมเด็จวัดระฆังฯ

พระสมเด็จวัดระฆัง  หรือ “จักรพรรดิแห่งพระเครื่อง” สร้างโดย สมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต) พรหมรังษี สันนิษฐานว่าท่านเริ่มพระพิมพ์นี้ในราว พ.ศ.2409 เมื่อท่านมีอายุ 78 ปี จัดสร้างเท่าไรมีหลักฐานไม่แน่นอน บ้างก็ว่าเป็นหมื่นๆองค์ แต่ปัจจุบันพระที่ท่านสร้างหาได้ยาก  ว่ากันว่ามีเงินหลักสิบล้านร้อยล้าน ก็ยังอาจจะหามาบูชาไม่ได้

วัดระฆังจัดสร้างพระสมเด็จรุ่นพิมพ์ใหม่ให้บูชากันเรื่อยมา ที่เราสามารถบูชาได้ในวันนี้ คือ

องค์ซ้าย สมเด็จวัดระฆังรุ่น 214 ปีเกิด สมเด็จพุฒาจารย์ (โต พฺรหฺมรํสี) อนุ พ.ศ. 2545 องค์ขวา พระผงสมเด็จพิมพ์ทรงนิยม สมเด็จพุฒาจารย์ (โต พฺรหฺมรํสี) อนุสรณ์ ๑๒๒ ปี พ.ศ. ๒๕๓๗

ข้อมูลเพิ่มเติมวัตถุมงคลวัดระฆัง http://www.watrakang.com/propitious03.php

๒.พระผงสุพรรณ

เราเริ่มออกเดินทางจากกรุงเทพ มุ่งไปที่วัดพระศรีรัตนมหาธาตุ จ.สุพรรณบุรี แหล่งค้นพบพระผงสุพรรณ ซึ่งเป็นพระเครื่องเนื้อดินเผา ปางมารวิชัย แสดงออกถึงศิลปะสกุลช่างอู่ทอง ที่เน้นความคล้ายคลึงกับมนุษย์ ด้วยเหตุนี้ เมื่อพบพิมพ์พระ ๓ ประเภท จึงเรียกชื่อตามลักษณะพระ ที่พระพักตร์เหี่ยวย่นเหมือนคนแก่ เรียกว่า พิมพ์หน้าแก่ ที่พระพักตร์อิ่มเอิบเรียวเล็ก ปราศจากรอยเหี่ยวย่น เรียกว่าพิมพ์หน้าหนุ่ม แบ่งแยกได้เป็นพิมพ์หน้าแก่ พิมพ์หน้ากลาง และพิมพ์หน้าหนุ่ม

โบราณสถานในวัดพระศรีรัตนมหาธาตุ สุพรรณบุรี

ทางวัดพระศรีรัตนมหาธาตุได้จัดสร้างพระผงสุพรรณมาแล้วหลายรุ่น ทุกวันนี้ก็ยังหาบูชาที่วัดได้ครับ

พระผงสุพรรณ เสาร์ ๕ วัดพระศรีรัตนมหาธาตุ พ.ศ. ๒๕๓๙

๓.พระซุ้มกอ

ออกจากสุพรรณเรามุ่งหน้าต่อไปที่ จ.กำแพงเพชร ต้นกำเนิดพระซุ้มกอ มีพุทธคุณทางโชคลาภ เมตตามหานิยม ใครมีไว้แล้วจะร่ำรวย เป็นมหาเศรษฐี เจริญรุ่งเรือง ในชีวิต

พ่ระซุ้มกอ ขุดพบบริเวณฝั่งตะวันตกของลำแม่น้ำปิง จังหวัดกำแพงเพชร เป็นบริเวณทุ่งกว้างที่มีชื่อว่า ” ลานทุ่งเศรษฐี ” หรือโบราณเรียกว่า ” เมืองนครชุมเก่า ” บริเวณลานทุ่งเศรษฐีอันกว้างใหญ่นี้ ปรากฎซากโบราณสถานอยู่มากมาย เป็นชื่อวัดนับสิบกว่าวัดด้วยกัน พระซุ้มกอ พิมพ์ใหญ่ พิมพ์มีกนก ขุดพบที่กรุวัดบรมธาตุ กรุวัดพิกุล หรือหนองพิกุล กรุฤาษี กรุตาพุ่ม กรุนาตาคำ กรุลานดอกไม้ กรุวัดหนองลังกา และเจดีย์กลางทุ่ง

วัดพระบรมธาตุเจดียาราม กำแพงเพชร

โบราณสถาน เชื่อว่าเป็นวัดหนองพิกุลตั้งแต่โบราณ

เราไปบูชาพระซุ้มกอกันที่วัดบรมธาตุและวัดพิกุล บรรยากาศที่วัดบรมธาตุจะมีคนไปทำบุญ ไปท่องเที่ยวเยอะพอสมควร กลับกันที่วัดพิกุล จะเงียบสงบกว่า แต่เมื่อผมแสดงความประสงค์จะบูชาพระ ก็มีหลวงพี่มาเสนอพระเครื่องกันหลายแบบ คึกคักเลย แต่ผมก็เลือกที่จะบูชาเฉพาะพระซุ้มกอที่ทางวัดมีไว้ให้บูชาแหละครับ

บน พระซุ้มกอดำ วัดบรมธาตุ ล่างขวา พระซุ้มกอ พิมพ์ใหญ่ วัดบรมธาตุ ล่างซ้าย พระซุ้มกอ วัดพิกุล

๔.พระนางพญา

ออกจากกำแพงเพชร เราขับรถอ้อมเส้นทางไปที่ จ. พิษณุโลก วัดนางพญา วัดเก่าแก่ ตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา  สันนิษฐานว่า ผู้สร้างพระนางพญาคือ พระวิสุทธิกษัตรีย์ พระราชมารดาของสมเด็จพระนเรศวรมหาราช พระองค์ทรงสร้างพระนางพญาขึ้นในคราวบูรณะปฏิสังขรณ์วัดราชบูรณะ ราวปี พ.ศ. 2090 – 2100 ขณะนั้นพิษณุโลกเป็นเมืองลูกหลวง

พระประธานในอุโบสถวัดนางพญา จ.พิษณุโลก

โบราณสถานในเขตวัดพระศรีรัตนมหาธาตุวรมหาวิหาร (วัดใหญ่) พิษณุโลก ซึ่งอยู่ใกล้ๆกับวัดนางพญา

พระนางพญา ได้รับอิทธิพลทางพุทธศิลปะมาจากสกุลช่างสุโขทัย เป็นพระเนื้อดินผสมว่านและเกสรดอกไม้ ปรากฏแร่กรวดทรายผสมผสานคลุกเคล้า กดเป็นองค์พระแล้วเสร็จ จึงนำไปเผา ทางวัดนางพญาได้จัดสร้างพระนางพญาให้ประชาชนทั่วไปบูชากันเรื่อยๆหลายพิมพ์เรื่อยมา

พระพิมพ์นางพญาผงเก่า รุ่นปี ๑๔ วัดนางพญา

๕.พระรอด

เราแวะวัดมหาวัน จ.ลำพูน หลังกลับจากเที่ยวเชียงใหม่ วัดมหาวันวนาราม ตั้งอยู่ใกล้คูเมือง ด้านทิศตะวันตก ถ.จามเทวี ในเขตเมืองลำพูน

วัดมหาวัน จ.ลำพูน

พระรอด ถือว่ามีอายุมากที่สุดในพระเบญจภาคี ลักษณะเป็นพระเนื้อดินเผา ศิลปะทวารวดี-ศรีวิชัย แบ่งพิมพ์ออกเป็น หลายพิมพ์ แต่ที่นับได้ว่าเป็นองค์สำคัญในชุดเบญจภาคี คือ “พระรอด พิมพ์ใหญ่”  มีพุทธคุณด้านแคล้วคลาด อยู่ยงคงกระพัน เมตตามหานิยม อุดมด้วยโภคทรัพย์ เรียกว่าครบเครื่องทีเดียว

พระรอด รุ่น มั่งมีศรีสุข วัดมหาวัน จ.ลำพูน พ.ศ. 2557

เอกลักษณ์สำคัญของ “พระรอด” คือ เป็นพระกรุเก่าแก่ที่มีการค้นพบเฉพาะที่วัดมหาวัน จ.ลำพูน เท่านั้น และแรกเริ่ม “พระรอด” คงบรรจุอยู่ในพระเจดีย์โบราณแต่ต่อมาพระเจดีย์ได้โค่นล้มลง พระรอดจึงตกอยู่ในดินกระจัดกระจายทั่วไป จึงมีการแตกกรุของ “พระรอด” ในหลายครั้ง

นอกจากพระเบญจภาคีแล้ว พระเครื่องที่เป็นใฝ่ฝันของเกือบทุกคน คือสมเด็จจิตรดา เป็นพระเครื่อง ที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 ทรงสร้างด้วยพระหัตถ์ของพระองค์เอง พระราชทานแก่ทหาร ตำรวจ[1] ข้าราชการ และพลเรือน ในช่วงระหว่าง พ.ศ. 2508 – 2513 มีทั้งสิ้นประมาณ 2,500 องค์

สมเด็จจิตรดา ปี 2509 ภาพจาก https://th.wikipedia.org/พระสมเด็จจิตรดา

ในปัจจุบันเป็นเรื่องยากที่จะหาพระสมเด็จจิตรดา สำหรับผู้ที่ต้องการพระเครื่องไว้บูชาเพื่อรำลึกถึงในหลวงรัชกาลที่ 9 ขอแนะนำให้หาพระพุทธนราวันตบพิธ (ปางห้ามสมุทร) และ พระกำลังแผ่นดิน เนื้อผง ปี 2539 มาบูชาครับ

ซ้าย พระพุทธนราวันตบพิธ (ปางห้ามสมุทร) และ บนขวา พระกำลังแผ่นดิน เนื้อผง ปี 2539

พระพุทธนราวันตบพิธ พระพุทธรูปฉลองพระองค์ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงเจริญพระชนมายุ 72 พรรษา ปี 2542 (ให้บูชาปี 2543) ได้รับพระมหากรุณาธิคุณล้นเกล้าฯ พระราชทานเส้นพระเจ้า(เส้นผม) พระจีวร และมวลสารของในหลวง (ผงจิตรลดา) มาเป็นมวลสาร โดยผ่านทาง สมเด็จพระญาณสังวรสมเด็จพระสังฆราช อันเชิญมาผสมอยู่ในเนื้อพระพุทธนราวันตบพิธ

พระกำลังแผ่นดิน เนื้อผงสีดำ สร้างขึ้นในโอกาสในหลวงรัชกาลที่ ๙ ครองสิริราชสมบัติครบ 50 ปี ปี 2539 โดยวัดบวรนิเวศวิหาร ในหลวงทรงพระราชทาน มวลสารจิตรลดา และอนุญาติให้อัญเชิญตราสัญลักษณ์ฉลองสิริราชสมบัติครบ 50 ปี ประดิษฐานด้านหลังองค์พระ



Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *