ถ้าเราต้องการเช่าพระ บูชาพระพุทธรูป เพื่อเป็นพระบูชาประจำบ้านใหม่ จะทำยังไงดี
เนื่องด้วยช่วงนี้ผมมีแรงบันดาลใจให้หาพระบูชาเข้ามาเพิ่ม เริ่มจากแม่ให้พระเครื่องเก่ามา มีหลวงพี่ที่เคารพให้พระบูชาปางประทานพรและหลวงพ่อเพชร ทำให้เริ่มสนใจหาพระเครื่องและพระบูชาประจำวันเกิดมาเพิ่มเติม เข้าตำราพระเรียกพระเลยครับ 😀
สำหรับชาวพุทธเรา ส่วนใหญ่มีพระบูชาประจำบ้านอยู่แล้ว จะเป็นพระที่เราเคารพและศรัทธา พระประจำวันเกิด พระที่ญาติผู้ใหญ่ให้มา ถ้าในบ้านมีพระบูชาหลายๆองค์ โดยมากจะเลือกพระที่หน้าตักใหญ่หรือที่เราเคารพที่สุดเป็นพระประธาน
สำหรับผู้ที่สร้างบ้านใหม่ ซื้อคอนโด อยากจะหาพระบูชาเข้าบ้านใหม่สักองค์ จะทำอย่างไรดี จากประสบการณ์ของผมมีแนวทางดังนี้
1.ขอพระบูชาจากพ่อแม่หรือญาติผู้ใหญ่
พระบูชาที่ได้จากพ่อแม่ ซึ่งถือเป็นพระในบ้าน ถือเป็นมงคลสูงสุด ตอนผมแต่งงานพ่อตาแม่ยายก็ให้หลวงพ่อโสธรมาหนึ่งองค์ ตอนขึ้นบ้านใหม่ท่านก็ให้เลือกมาอีก 4 องค์ โชคดีครับที่ผมมีพ่อตาแม่ยายมีพระบูชาเยอะ ฉะนั้นใครที่พ่อแม่มีพระบูชาเยอะอยู่แล้ว แนะนำให้ขอท่านมาครับถือว่าดีที่สุด แล้วหมั่นพาท่านไปเที่ยว เข้าวัดทำบุญเป็นการตอบแทน
2.เช่าพระบูชาจากวัดที่เราเคารพศรัทธา
โดยมากวัดดังๆ จะสร้างพระบูชาให้สำหรับผู้ทำบุญได้นำไปบูชากันอยู่แล้ว โดยเราถือโอกาสได้ทำบุญได้เที่ยวไปด้วย หรือจะเป็นวัดใกล้บ้านที่เราศรัทธาก็ได้ พระที่บูชาจากวัดจะผ่านพิธีพุทธาภิเษกแล้ว วัดที่พอแนะนำได้มีดังนี้
- วัดพระแก้ว (พระแก้วมรกต) วัดหลวงพ่อโสธร พระศักดิ์สิทธิคู่บ้านคู่เมือง เหมาะกับทุกๆคน และยังเหมาะกับคนเกิดวันพฤหัสเป็นอย่างยิ่ง เพราะเป็นพระปางสมาธิ พระประจำวันพฤหัสบดี
- วัดพระศรีมหาธาตุวรมหาวิหาร จ. พิษณุโลก(พระพุทธชินราช) วัดบวรนิเวศ (พระ ภ.ป.ร.,พระพุทธชินสีห์) วัดท่าพระ (หลวงพ่อเกษร) วัดนิมมานนรดี(หลวงพ่อเกศจำปาศรี) พระปางมารวิชัย
- วัดนาคปรก (หลวงพ่อนาคปรก) พระปางนาคปรก พระประจำวันเสาร์
- วัดพระปฐมเจดีย์(พระร่วงโรจนฤทธิ์) พระปางห้ามญาติ พระประจำวันจันทร์
- วัดเพชรสมุทร (หลวงพ่อวัดบ้านแหลม) พระปางอุ้มบาตร พระประจำวันพุทธกลางวัน
- วัดป่าเลไลย์ (หลวงพ่อโต) พระปางป่าเลไลย์ พระประจำวันพุธกลางคืน
3.ทำบุญบริจาคและรับพระบูชากับหน่วยงานรัฐ องก์กร มูลนิธิเพื่อการกุศลต่างๆ
หน่วยงานต่างๆเหล่านี้มักจะจัดสร้างพระพุทธรูป พระบูชา และพระเครื่องในวาระสำคัญๆเสมอ นอกจากได้ทำบุญแล้ว ยังนำไปลดหย่อนภาษีได้อีกด้วย
4. ซื้อพระบูชาจากร้านสังฆภัณฑ์
พระบูชาที่ขายตามร้านเหล่านี้โดยมากจะเป็นพระที่ยังไม่ผ่านพิธีใดๆ เมื่อซื้อแล้ว ก็ไปให้พระที่นับถือเบิกเนตรหรือปลุกเสกแล้วทำบุญให้กับทางวัดไป หรือเวลาที่วัดใกล้ ๆ บ้านมีพิธีต่อไปนี้ พุทธาภิเษก สวดนพเคราะห์หรือภาณยักษ์ เราก็เชิญท่านไปเข้าพิธีร่วมกับเราด้วย
สำหรับบางท่านต้องการพระพุทธรูปเพื่อให้เกิดพุทธานุสติ ไม่ต้องทำพิธีอะไรก็ได้ครับ เพราะพระพุทธรูปก็เป็นสิ่งแทนองค์พระพุทธเจ้าอยู่แล้วถ้าเราหมั่นทำความดี เชื่อว่าความดีก็จะสะท้อนสิ่งดี ๆ มาให้ตัวเรา
นอกจากร้านสังฆภัณฑ์ใกล้บ้านแล้ว แหล่งร้านจำหน่ายพระบูชาในกรุงเทพที่เป็นแหล่งใหญ่ก็จะมีที่
- หน้าวัดราชนัดดา จะมีร้านขายพระบูชาใหม่หลายร้าน ที่เป็นพุทธลักษณะยอดนิยม ราคาไม่แพง และยังมีร้านขายเทวรูปสำคัญอีกมากมาย เช่น พระพรหม พระพิฒเนศ
- บริเวณเสาชิงช้า ที่นี่เป็นแหล่งรวมร้านสังฆภัณฑ์ มีร้านค้าส่งค้าปลีก หล่อพระพุทธรูปขนาดใหญ่ ร้านสังฆภัณฑ์ในบริเวณเสาชิงช้าบางร้านพัฒนาเป็นร้านขนาดใหญ่ มีสังฆภัณฑ์ให้เลือกซื้อมากมาย ร้านที่ผมประทับใจ ต้อนรับดี แม้ไม่ได้ซื้อพระบูชาจากเขาก็คือ ร้านเจริญชัยการช่าง ในซอยนาวา
- ตลาดพระท่าพระจันทร์ เป็นตลาดพระบูชา พระเครื่องขนาดใหญ่ พระบูชาที่ตลาดท่าพระจันทร์จะมีทั้งพระเก่า และพระที่ทำขึ้นใหม่โดยจำลองแบบจากพระสมัยเก่ายุคต่างๆ สำหรับผู้ที่นิยมพระศิลปะยุคก่อน ทั้งศิลปะสุโขทัย เชียงแสน อยุธยา พระรัตนะยุครัตนโกสินทร์ตอนต้น สามารถไปเลือกหาได้จากตลาดท่าพระจันทร์ แต่สนนราคาจะแพง แม้จะเป็นพระใหม่ก็เถอะ ส่วนตัวแล้วอยากได้พระปางห้ามสมุทรซึ่งหาบูชาจากวัดค่อนยาก ก็ได้จากที่นี่ครับ บูชาทั้งที ก็อยากเลือกพระที่สวยเหมาะสมกับเรา ผมจะดูและพิจารณาพระแต่ละร้านนานหน่อย ขนาดว่าทำตัวสงบเสงี่ยมเรียบร้อยแล้วนะครับ ยังรู้สึกว่าแต่ละร้านดูเหวี่ยงๆ แต่ก็บูชาพระมาได้องค์หนึ่งจากร้าน บ้านพุทธรุ่งเรือง ครับ ซึ่งบริการเป็นกันเอง
5. เช่าพระบูชา กับ 7-Eleven
ยุคนี้หาทุกอย่างได้ที่ 7-Eleven จริงๆ โดยเราสามารถไปเลือกเช่า พระบูชา พระเครื่องได้ที่หน้าเวบ http://www.amuletat7.com/ เลือก เช่า แล้วรอรับพระได้ที่ 7-Eleven ได้เลย พระในหน้าเวบก็เป็นพระเครื่อง พระบูชา จากวัดจริงๆแหละครับ โดย 7-Eleven เป็นตัวแทนให้คนมาเช่าได้อย่างสะดวกสบาย
6. เช่าพระบูชาจากเวบขายของต่างเช่น Kaidee.com
ในเวบขายของแบบนี้มีทั้งพระบูชาที่เป็นพระเก่าจากบ้าน และพระที่เลียนแบบพระเก่าซึ่งเป็นร้านค้านำมาลงขายในเวบ ฉะนั้นการบูชาพระเก่า เราต้องมีความรู้พอสมควร และน่าจะไปดูด้วยตัวเอง ก่อนจะบูชาครับ
ขอขอบคุณ
ผู้ร่วมตอบกระทู้เกี่ยวกับพระบูชา เวบ pantip.com