พระเบญจภาคี สุดยอดพระเครื่องของเมืองไทย
เชื่อว่าสำหรับคนสะสม บูชาพระเครื่องทุกๆคนแล้ว พระที่ต่างมุ่งหวังว่าจะมีไว้บูชากันก็คือ พระเครื่องเบญจภาคี ซึ่งได้จัดทำเนียบขึ้นโดย “พ.อ.(พิเศษ) ประจน กิตติประวัติ” หรือ “ตรียัมปวาย” เมื่อ พ.ศ.๒๔๙๕ โดยเมื่อแรกเริ่มยังคงเป็นเพียง “ไตรภาคี” คือ มีเพียง ๓ องค์เท่านั้น ประกอบด้วย ‘พระสมเด็จ’ วัดระฆังโฆสิตาราม เป็นองค์ประธาน ซ้ายขวาเป็นพระนางพญา จ.พิษณุโลก และพระรอด จ.ลำพูน หลังจากนั้นจึงได้ผนวก ‘พระกำแพงซุ้มกอ’ กำแพงเพชร และ ‘พระผงสุพรรณ’ สุพรรณบุรี เข้าไปเพิ่มเป็นพระเบญจภาคี
สำหรับผู้ที่ต้องการพระเบญจภาคีแบบดั้งเดิมมาบูชา ปัจจุบันนี้กำเงินหลักร้อยล้านไปหา ก็ยังยาก แต่เดี๋ยวก่อน ถ้าเราอยากจะหาบูชาพระเบญจภาคีไว้ โดยไม่ซีเรียสว่าต้องเป็นพระกรุเก่าดั้งเดิม ก็สามารถทำได้ไม่ยากครับ
ตัวผมเองก็มีแรงบันดาลใจ อยากได้พระเบญจภาคีไว้บูชาสักชุด หาข้อมูลแล้วก็คิดได้ว่า เราไปบูชาพระจากวัดที่ค้นพบพระเลยก็ได้นี่นา แม้จะเป็นพระใหม่ แต่ก็เป็นพระแท้ๆที่สร้างจากทางวัด คิดได้แล้วก็ถือโอกาสช่วงที่เดินทางไปเที่ยวเชียงใหม่ ตามรอยวัดที่เป็นต้นกำเนิดพระเบญจภาคีไปเรื่อยๆครับ
เส้นทางตามรอยพระเบญจภาคี
เราเริ่มต้นที่กรุงเทพ วัดระฆังโฆษิตาราม เป็นวัดใจกลางกรุงเทพ ที่คนนิยมไปทำบุญกันมาก
๑.พระสมเด็จวัดระฆัง
พระสมเด็จวัดระฆัง หรือ “จักรพรรดิแห่งพระเครื่อง” สร้างโดย สมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต) พรหมรังษี สันนิษฐานว่าท่านเริ่มพระพิมพ์นี้ในราว พ.ศ.2409 เมื่อท่านมีอายุ 78 ปี จัดสร้างเท่าไรมีหลักฐานไม่แน่นอน บ้างก็ว่าเป็นหมื่นๆองค์ แต่ปัจจุบันพระที่ท่านสร้างหาได้ยาก ว่ากันว่ามีเงินหลักสิบล้านร้อยล้าน ก็ยังอาจจะหามาบูชาไม่ได้
วัดระฆังจัดสร้างพระสมเด็จรุ่นพิมพ์ใหม่ให้บูชากันเรื่อยมา ที่เราสามารถบูชาได้ในวันนี้ คือ
ข้อมูลเพิ่มเติมวัตถุมงคลวัดระฆัง http://www.watrakang.com/propitious03.php
๒.พระผงสุพรรณ
เราเริ่มออกเดินทางจากกรุงเทพ มุ่งไปที่วัดพระศรีรัตนมหาธาตุ จ.สุพรรณบุรี แหล่งค้นพบพระผงสุพรรณ ซึ่งเป็นพระเครื่องเนื้อดินเผา ปางมารวิชัย แสดงออกถึงศิลปะสกุลช่างอู่ทอง ที่เน้นความคล้ายคลึงกับมนุษย์ ด้วยเหตุนี้ เมื่อพบพิมพ์พระ ๓ ประเภท จึงเรียกชื่อตามลักษณะพระ ที่พระพักตร์เหี่ยวย่นเหมือนคนแก่ เรียกว่า พิมพ์หน้าแก่ ที่พระพักตร์อิ่มเอิบเรียวเล็ก ปราศจากรอยเหี่ยวย่น เรียกว่าพิมพ์หน้าหนุ่ม แบ่งแยกได้เป็นพิมพ์หน้าแก่ พิมพ์หน้ากลาง และพิมพ์หน้าหนุ่ม
ทางวัดพระศรีรัตนมหาธาตุได้จัดสร้างพระผงสุพรรณมาแล้วหลายรุ่น ทุกวันนี้ก็ยังหาบูชาที่วัดได้ครับ
๓.พระซุ้มกอ
ออกจากสุพรรณเรามุ่งหน้าต่อไปที่ จ.กำแพงเพชร ต้นกำเนิดพระซุ้มกอ มีพุทธคุณทางโชคลาภ เมตตามหานิยม ใครมีไว้แล้วจะร่ำรวย เป็นมหาเศรษฐี เจริญรุ่งเรือง ในชีวิต
พ่ระซุ้มกอ ขุดพบบริเวณฝั่งตะวันตกของลำแม่น้ำปิง จังหวัดกำแพงเพชร เป็นบริเวณทุ่งกว้างที่มีชื่อว่า ” ลานทุ่งเศรษฐี ” หรือโบราณเรียกว่า ” เมืองนครชุมเก่า ” บริเวณลานทุ่งเศรษฐีอันกว้างใหญ่นี้ ปรากฎซากโบราณสถานอยู่มากมาย เป็นชื่อวัดนับสิบกว่าวัดด้วยกัน พระซุ้มกอ พิมพ์ใหญ่ พิมพ์มีกนก ขุดพบที่กรุวัดบรมธาตุ กรุวัดพิกุล หรือหนองพิกุล กรุฤาษี กรุตาพุ่ม กรุนาตาคำ กรุลานดอกไม้ กรุวัดหนองลังกา และเจดีย์กลางทุ่ง
เราไปบูชาพระซุ้มกอกันที่วัดบรมธาตุและวัดพิกุล บรรยากาศที่วัดบรมธาตุจะมีคนไปทำบุญ ไปท่องเที่ยวเยอะพอสมควร กลับกันที่วัดพิกุล จะเงียบสงบกว่า แต่เมื่อผมแสดงความประสงค์จะบูชาพระ ก็มีหลวงพี่มาเสนอพระเครื่องกันหลายแบบ คึกคักเลย แต่ผมก็เลือกที่จะบูชาเฉพาะพระซุ้มกอที่ทางวัดมีไว้ให้บูชาแหละครับ
๔.พระนางพญา
ออกจากกำแพงเพชร เราขับรถอ้อมเส้นทางไปที่ จ. พิษณุโลก วัดนางพญา วัดเก่าแก่ ตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา สันนิษฐานว่า ผู้สร้างพระนางพญาคือ พระวิสุทธิกษัตรีย์ พระราชมารดาของสมเด็จพระนเรศวรมหาราช พระองค์ทรงสร้างพระนางพญาขึ้นในคราวบูรณะปฏิสังขรณ์วัดราชบูรณะ ราวปี พ.ศ. 2090 – 2100 ขณะนั้นพิษณุโลกเป็นเมืองลูกหลวง
พระนางพญา ได้รับอิทธิพลทางพุทธศิลปะมาจากสกุลช่างสุโขทัย เป็นพระเนื้อดินผสมว่านและเกสรดอกไม้ ปรากฏแร่กรวดทรายผสมผสานคลุกเคล้า กดเป็นองค์พระแล้วเสร็จ จึงนำไปเผา ทางวัดนางพญาได้จัดสร้างพระนางพญาให้ประชาชนทั่วไปบูชากันเรื่อยๆหลายพิมพ์เรื่อยมา
๕.พระรอด
เราแวะวัดมหาวัน จ.ลำพูน หลังกลับจากเที่ยวเชียงใหม่ วัดมหาวันวนาราม ตั้งอยู่ใกล้คูเมือง ด้านทิศตะวันตก ถ.จามเทวี ในเขตเมืองลำพูน
พระรอด ถือว่ามีอายุมากที่สุดในพระเบญจภาคี ลักษณะเป็นพระเนื้อดินเผา ศิลปะทวารวดี-ศรีวิชัย แบ่งพิมพ์ออกเป็น หลายพิมพ์ แต่ที่นับได้ว่าเป็นองค์สำคัญในชุดเบญจภาคี คือ “พระรอด พิมพ์ใหญ่” มีพุทธคุณด้านแคล้วคลาด อยู่ยงคงกระพัน เมตตามหานิยม อุดมด้วยโภคทรัพย์ เรียกว่าครบเครื่องทีเดียว
เอกลักษณ์สำคัญของ “พระรอด” คือ เป็นพระกรุเก่าแก่ที่มีการค้นพบเฉพาะที่วัดมหาวัน จ.ลำพูน เท่านั้น และแรกเริ่ม “พระรอด” คงบรรจุอยู่ในพระเจดีย์โบราณแต่ต่อมาพระเจดีย์ได้โค่นล้มลง พระรอดจึงตกอยู่ในดินกระจัดกระจายทั่วไป จึงมีการแตกกรุของ “พระรอด” ในหลายครั้ง
นอกจากพระเบญจภาคีแล้ว พระเครื่องที่เป็นใฝ่ฝันของเกือบทุกคน คือสมเด็จจิตรดา เป็นพระเครื่อง ที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 ทรงสร้างด้วยพระหัตถ์ของพระองค์เอง พระราชทานแก่ทหาร ตำรวจ[1] ข้าราชการ และพลเรือน ในช่วงระหว่าง พ.ศ. 2508 – 2513 มีทั้งสิ้นประมาณ 2,500 องค์
ในปัจจุบันเป็นเรื่องยากที่จะหาพระสมเด็จจิตรดา สำหรับผู้ที่ต้องการพระเครื่องไว้บูชาเพื่อรำลึกถึงในหลวงรัชกาลที่ 9 ขอแนะนำให้หาพระพุทธนราวันตบพิธ (ปางห้ามสมุทร) และ พระกำลังแผ่นดิน เนื้อผง ปี 2539 มาบูชาครับ
พระพุทธนราวันตบพิธ พระพุทธรูปฉลองพระองค์ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงเจริญพระชนมายุ 72 พรรษา ปี 2542 (ให้บูชาปี 2543) ได้รับพระมหากรุณาธิคุณล้นเกล้าฯ พระราชทานเส้นพระเจ้า(เส้นผม) พระจีวร และมวลสารของในหลวง (ผงจิตรลดา) มาเป็นมวลสาร โดยผ่านทาง สมเด็จพระญาณสังวรสมเด็จพระสังฆราช อันเชิญมาผสมอยู่ในเนื้อพระพุทธนราวันตบพิธ
พระกำลังแผ่นดิน เนื้อผงสีดำ สร้างขึ้นในโอกาสในหลวงรัชกาลที่ ๙ ครองสิริราชสมบัติครบ 50 ปี ปี 2539 โดยวัดบวรนิเวศวิหาร ในหลวงทรงพระราชทาน มวลสารจิตรลดา และอนุญาติให้อัญเชิญตราสัญลักษณ์ฉลองสิริราชสมบัติครบ 50 ปี ประดิษฐานด้านหลังองค์พระ