ดนตรีดีๆฟังฟรีๆ ที่ มหิดลสิทธาคาร






มหิดลสิทธาคาร (Prince Mahidol)  หอประชุมแห่งใหม่ของมหาวิทยาลัยมหิดล

มหิดลสิทธาคาร1

ถ้าใครได้ผ่านมาแถวศาลายา คงได้เห็นอาคารรูปทรงเด่น มีเอกลักษณ์หลังนี้กันแล้วนะครับ แนวการออกแบบมาจากการผสมผสานสถาปัตยกรรมไทยและรูปทรง “ดอกกันภัยมหิดล” ดอกไม้ประจำมหาวิทยาลัยมหิดล  ผมเห็นตั้งแต่เริ่มก่อสร้าง แวบแรกที่เห็นขึ้นโครงสร้างก็ทึ่งมาก รู้ได้เลยว่าไม่ธรรมดาแน่  แต่ก็อดคิดไม่ได้ว่ามันเกินความจำเป็นและสิ้นเปลืองเกินไปหรือเปล่ากับอาคารมูลค่า 1,200 ล้านหลังนี้

เมื่อได้รับคำชวนจากเพื่อนให้มาชมการแสดงดนตรีที่หอประชุมแห่งนี้ มีโอกาสได้ชมนิทรรศการเกี่ยวกับการสร้างหอประชุม ได้ทราบแนวคิด ก็ชักจะเห็นด้วยกับการสร้างครับ เพราะนอกจากเป็นอาคารที่สร้างขึ้นเพื่อใช้ในพิธีพระราชทานปริญญาบัตรของมหาวิทยาลัยมหิดล ยังใช้ในการจัดกิจกรรมที่หลากหลาย เช่น การแสดงละคร ดนตรี ศิลปวัฒนธรรมต่างๆ การประชุมสัมมนา ทั้งในระดับชาติและนานาชาติ

โดยเฉพาะด้านดนตรี Hall ถูกสร้างตามหลัก Acoustic คือ สามารถฟังเสียงดนตรีธรรมชาติจากเครื่องดนตรีโดยตรงในทุกจุด ทุกที่นั่งอย่างชัดเจน ไม่มีเสียงสะท้อน ว่ากันว่าดีระดับแนวหน้าของอาเซียนเลยทีเดียว จริงไม่จริงยังไงอยากให้ทุกคนมาพิสูจน์กัน ส่วนผมได้พิสูจน์แล้วด้วยการมาชมการประกวดประพันธ์เพลงรอบชิงชนะเลิศที่นี่ครับ

มหิดลสิทธาคาร2

มหิดลสิทธาคาร002

ความสวยงามของอาคาร ความโอ่โถง การใช้สอยยอดเยี่ยม ส่วนระบบเสียงนี่ตอนเริ่มฟังเพลงแรกนี่ผมขนลุกเลยครับ เพลงเพราะ ความหมายดี ยอดเยี่ยมมาก แต่ฟังๆไปหลายๆเพลงชักรู้สึกธรรมดา อาจจะเป็นที่บทเพลงด้วย โดยเฉพาะเสียงนักร้องชายดูจะไม่ค่อยชัดถ้อยชัดคำ มันอู้ๆ ฟังไม่ค่อยออก  นี่เป็นครั้งแรกที่ผมฟังวงออเคสตร้าใน Hall  คงต้องหาโอกาสฟังที่ Hall อื่นด้วยเพื่อเปรียบเทียบ แต่อย่างไรก็ให้ผ่านครับ ต่อไปมาพูดถึงการประกวดเพลงกันดีกว่า

คุณค่าไทย สู่บทเพลงสมัยนิยม”

การประกวดการประพันธ์เพลง “คุณค่าไทย สู่บทเพลงสมัยนิยม” เยาวชนอายุไม่เกิน 25 ปี

มหิดลสิทธาคาร001

 

โครงการนี้เป็นการประกวดบทเพลงไทยที่ประพันธ์ขึ้นใหม่ จัดประกวดโดย สำนักงานศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัย กระทรวงวัฒนธรรม ร่วมกับ วิทยาลัยดุริยางคศิลป์ มหาวิทยาลัยมหิดล ดังนั้นเพลงที่เข้ารอบก็มาจากนักเรียนนักศึกษาจากวิทยาลัยดุริยางคศิลป์ซะเป็นส่วนใหญ่ อาจจะเนื่องจากจัดโครงการเป็นปีแรก หวังว่าปีต่อๆไปจะมีเยาวชนจากทั่วประเทศมามากขึ้น หวังว่าโครงการดีๆอย่างนี้คงจะจัดต่อนะครับ

มีเพลงที่เข้ารอบสุดท้ายที่จะแสดงในรอบชิง 23 บทเพลง โดยทีมที่ประพันธ์จะร้องเอง หรือให้นักร้องท่านอื่นร้องให้ก็ได้ โดยวงดนตรีที่เล่นวันนั้นคือ วง Mahidol University Pops Orchestra

มหิดลสิทธาคาร006

ต่อไปเป็นผลการประกวด เสียดายที่กรรมการแต่ละท่านไม่ได้ให้เหตุผลว่าทำไมเพลงแต่ละถึงชนะ แต่ผมก็เห็นด้วยกับผลการตัดสินของกรรมการนะ เลยอยากแสดงความคิดเห็นตามประสาคนฟังดนตรีพอได้ เหมือนที่ทำอาหารไม่ค่อยเป็นแต่พอรู้ว่าอะไรอร่อยไม่อร่อยนะครับ

ผลการคัดเลือกรอบชิงชนะเลิศ

รางวัลชนะเลิศ ได้แก่ เพลงข้าวแช่ในความทรงจำ

คำร้อง-ทำนอง-เรียบเรียงเสียงประสาน: ศุภกานต์ ศิลป์วิสุทธิ์

ขับร้อง: อมรภัทร เสริมทรัพย์-ร้องนำหญิง / ธนพล ศรีรัตน์-ร้องนำชาย

เปียโน: ศุภกานต์ ศิลป์วิสุทธิ์

“เพลงนี้ทำนองไพเราะครับ เสียงเปียโนหวาน เนื้อหาเข้าใจเปรียบเทียบ เหมาะสมกับที่ 1 ด้วยประการทั้งปวง”

มหิดลสิทธาคาร012

ผู้แต่ง คำร้อง-ทำนอง เล่นเปียโน เพลงรางวัลชนะเลิศ และนักร้อง

รางวัลรองชนะเลิศอันดับ ๑ ได้แก่ เพลงเพียงคนหนึ่ง

คำร้อง-ทำนอง: พิชญภา เดอซูซ่า

เรียบเรียงเสียงประสาน: ธนพล เศตะพราหมณ์

ขับร้อง: พิชญภา เดอซูซ่า / พงษ์พิสุทธิ์ ชินวงศ์


“เพลงนี้ทำนองไพเราะครับ  ความหมายดี แต่อาจจะสื่อความเป็นไทยน้อยไปนิด”

รางวัลรองชนะเลิศอันดับ ๒ ได้แก่ เพลงวันหยุด

คำร้อง – ทำนอง: ศุภเมธ เพชรอุดม

เรียบเรียงเสียงประสาน : ปฏิมา อุณหโชค

นักร้อง : ศุภเมธ เพชรอุดม / ณัฐวุฒิ เพชรแวว

“ชอบเนื้อเพลงเพลงนี้ครับ พูดถึงวันสงกรานต์ได้อบอุ่นดี แต่ท่วงทำนองธรรมดาไปหน่อย”

รางวัล Popular Vote ได้แก่ เพลงคำฉัน

คำร้อง-ทำนอง-เรียบเรียงเสียงประสาน: ชุดาลักษณ์ พินันท์

ขับร้อง: เฉลิมรัฐ จุลโลบล


“เพลงนี้ท่วงทำนองถูกใจวัยรุ่นสมแล้วที่ได้ Popular Vote แต่ผมว่าเอาเนื้อกลอนพระอภัยมณีมาเยอะไปหน่อย”

ส่วนบทเพลงที่ผมชอบเป็นการส่วนตัวได้แก่เพลง มยุรา

คำร้อง: สรรสิริ สรรกุล

ทำนอง : อรุณยเดช ราชโหดี

เรียบเรียงเสียงประสาน : ธีรนัย จิระสิริกุล

ขับร้อง : มารีอา มู่

“ชอบท่วงทำนองเพลงนี้มาก ผม vote ให้ด้วย แนวทางเนื้อหาก็ใช้ได้ แต่ว่าไม่ชัดเจนครับว่าฝูงมยุราไม่ดียังไง อีกทั้งท่อนร้อง มยุรา ยาวไปนะ ผมว่าเอาประมาณอย่างท่อนสร้อยเพลงเขมรไทรโยคน่ะกำลังดี”

 ส่วนเพลงอื่นๆ ก็ชอบอีกหลายเพลงครับ เช่น เชื่อคำ คนไทยไม่ฆ่ากัน แต่แนวที่ไม่ชอบก็คือเพลงที่สื่อตรงๆทื่อๆว่า วัฒนธรรมไทยดี้ดีไม่มีใครเหมือน  แผ่นดินไทยอุดมสมบูรณ์สุดๆ  ยิ้มสยามงามกว่าใคร ประเทศไทยไม่แพ้ชาติใดในโลก ผมว่ามันดูโอ้อวดไปหน่อย

สุดท้ายอยากชักชวนทุกคนให้มาฟังเพลงที่ มหิดลสิทธาคาร เพื่อให้กำลังใจคนทำดนตรี รวมทั้งช่วยใช้ให้อาคารนี้ให้คุ้มค่าเร็วๆ (พูดซะดูดี จริงๆชอบของฟรีน่ะครับ :D)

สนใจมาฟังเพลงติดตามข่าวได้ที่ http://www.music.mahidol.ac.th/th/




อ้างอิง

http://www.music.mahidol.ac.th/thaipop57/achievement.php

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *